ไทยนั้นเข้าร่วมงานสัปดาห์นาฏศิลป์จีน-อาเซียน (หนานหนิง) ติดต่อกันหลายปีแล้ว โดยมีการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ การรำมโนราห์ และการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ ด้วยเป้าหมายใช้นาฏศิลป์เป็นสื่อกลางส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวรรณศิลป์และความเข้าใจระหว่างประชาชนสองประเทศ
สำหรับงานปีนี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ของไทยได้นำเสนอการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามตามกวาง ประกอบเสียงเพลงบรรเลงจากเครื่องดนตรีไทยหลายประเภท เช่น ระนาด ขลุ่ยไม้ กลองแขก และอื่นๆ ซึ่งนำพาผู้ชมสนุกสนานกับเรื่องราวท่ามกลางห้วงเวลาแห่งความเป็นไทย
นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันฯ กล่าวว่าการแสดงโขนถือเป็นตัวแทนวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมและมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก ซึ่งสถาบันฯ วางแผนรับสมัครนักศึกษาชาวจีนผู้สนใจศิลปะวัฒนธรรมไทยมาร่วมเรียนรู้การแสดงโขนและการร่ายรำอื่นๆ ของไทยในอนาคตด้วย
ขณะเดียวกันการแสดงรำมโนราห์จากภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก ได้ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมไม่แพ้กันด้วยสีสันรูปทรงของชุด ท่วงท่าการร่ายรำ และการขับร้องอันมีจังหวะจะโคนกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก
อาจารย์ อภิญญา อันพันลำ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งนำคณะนักศึกษามาแสดงการรำพื้นบ้านประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทย เผยว่างานนี้เป็นโอกาสดีของการนำเสนอวัฒนธรรมไทย พร้อมกับเรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาติอื่นๆ
เครดิต:ซินหัว