วันนี้ (22 ธ.ค.66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 10/2566 ที่มีการหารือถึงการทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดึงกลับจากครม.ให้นำกลับมาทบทวนใหม่ โดยที่ประชุมใช้เวลาหารือกันเกือบ 2 ชั่วโมง มีข้อสรุปให้ยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 ตามเดิม เนื่องจากสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการใช้ ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นสูตรที่คณะกรรมการ มีมติเห็นชอบให้อนุกรรมการจังหวัดทุกจังหวัด ใช้เป็นหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลและข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่วนข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรง คณะกรรมการจะได้นำไป ประกอบการพิจารณาปรับสูตรในการกำหนดค่าจ้างใหม่โดยเร็วที่สุด เมื่อสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อเรียกร้องของ ลูกจ้าง หรือเป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุด้วยว่า การพิจารณาสูตรคำนวณใหม่ จะเร่งพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดว่าในวันที่ 17 ม.ค.67 จะมีการเสนอรายชื่อ อนุกรรมการเพื่อพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ โดยตัวแทนนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม หลังจากนั้น จะเสนอบอร์ดชุดใหญ่ให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจได้ข้อสรุปก่อนหรือหลังวันแรงงานปี 67 แต่จะต้องดูความพร้อมของทุกฝ่ายด้วย
ซึ่งอาจพิจารณาปรับขึ้น ตามประเภทของกิจการ โดยการปรับสูตรการคำนวณค่าจ้างครั้งนี้ถือเป็นการปรับในรอบ 6 ปี และอาจปรับขึ้นไปได้ถึง 400 บาท ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ระบุว่า คณะกรรมการไปภาคีเห็นชอบร่วมกันว่ามติที่ออกไปแล้วไม่ควรปรับใหม่ หากจะปรับควรจะเป็นครั้งต่อไปและใช้สูตรใหม่ที่จะมีการพิจารณาขึ้นมาให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด และถือเป็นการสังคายนา สูตรการคำนวณค่าแรงใหม่ เพื่อไม่มีปัญหา เหมือนปีนี้ พร้อมย้ำว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ที่พิจารณาไปแล้วชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถ้าปรับเปลี่ยนคงไม่เหมาะสม หากถามว่าลูกจ้างอยากได้ค่าจ้างเพิ่มหรือไม่ เชื่อว่าทุกคน อยากได้เพิ่ม แต่ต้องมองถึงสถานการณ์ความเป็นจริง หากเพิ่มไปแล้วจะมีผลกระทบหรือไม่ ส่วนถ้ามีการให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามทักษะอาชีพ ลูกจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ได้ ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้า