ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบาลมอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาโครงการเพื่อก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อปิดกั้นลำห้วงต่างๆที่จะไหลลงส่แม่น้ำโขง เพื่อเป็นการป้องกันอุทกภัยจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการในแผนดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร อยู่ 2 โครงการ โดยที่แล้วเสร็จและมีการส่งมอบให้โครงการชลประทานมุกดาหาร สำนักงานชลประทานที่ 7 รับไปดูแลบำรุงรักษาแล้ว เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ก็คือ โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยบางทราย บ้านดอนม่วย ตำบลบางทรายน้อย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร และที่กำลังดำเนินการอยู่อีก 1 โครงการก็คือ โครงการประตูระบายน้ำห้วยบังอี่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งจะแล้วเสร็จส่งมอบได้ในปี 2566 โดยหากแล้วเสร็จก็จะเป็นการเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในแถบลุ่มน้ำโขงได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพอีกแห่ง ของจังหวัดมุกดาหาร
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำห้วยบังอี่ จังหวัดมุกดาหาร ที่อยู่ในระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง จะมีพื้นที่รับน้ำเหนือประตูระบายน้ำอยู่ที่ 1,492 ตร.กม. มีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 1.05 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำ 649,540,000 ลบ.ม./ปี โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกาลที่ 7 ได้นำผลศึกษาโครงการมาประสานงานด้านสำรวจ ออกแบบ และจัดเข้าแผนงานก่อสร้างของโครงการ เพื่อที่จะของบประมาณมาดำเนินการ ก่อสร้างในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งประตูระบายน้ำห้วยบังอี่ จะมีลักษณะโครงการเป็นอาคารประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดบานตรง ขนาดช่องบานกว้าง 10.00 เมตร สูง 8.00 เมตร จำนวน 5 ช่อง ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และในกรณีฝนทิ้งช่วงได้ประมาณ 1,000,000 ลบ.ม.
โดยโครงการประตูระบายน้ำห้วยบังอี่ จังหวัดมุกดาหาร มีพื้นที่ในโครงการจำนวน 144 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ติดกับ 2 ตำบล คือตำบลนาสะเม็ง และตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล มีนายฉลองพันธ์ ศิริโอภาส เป็นนายช่างควบคุมดูแลโครงการ โดยมีกำนันจาก 2 ตำบล คือ นายอ่อนสี บุทธิจักร กำนันตำบลนาสะเม็ง และ นายพิทักษ์ พรหมเสนา กำนันตำบลโพธิ์ไทร ร่วมเป็นกรรมการประสานงานในการบริหารจัดการน้ำกับทางชลประทานมุกดาหาร ซึ่งก็ได้มีนำเสนอโครงการที่จะให้มีการขยายพื้นที่การส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่การเกษตรเพิ่มอีก เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำกันอย่างทั่วถึง ซึ่งหากโครงการนี้แล้วเสร็จ ก็จะสามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงหนุน และป้องกันการไหลย้อนกลับเข้ามาท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ริมห้วยบังอี่ในฤดูน้ำหลากได้ และยังสามารถกักเก็บน้ำและกระจายน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรของราษฎรในเขตตำบลโพธิ์ไทรและตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหารในฤดูฝนได้ประมาณ 3,000 ไร่ และฤดูแล้งประมาณ 2,000 ไร่ ยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดของชุมชน อีกทั้งยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของชุมชนอีกด้วย
โดย นายสาธร สาธุภาค ผู้อำนวยการ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เมื่อก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำห้วยบังอี่แล้วเสร็จ 100 % สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 7 ก็จะดำเนินการส่งมอบถ่ายโอนโครงการให้กับโครงการชลประทานมุกดาหาร เพื่อไปบำรุงดูแลรักษาต่อไป ซึ่งก็ขอฝากถึงราษฎรในพื้นที่ ได้ช่วยกันดูแลบำรุงรักษาร่วมกันกับทางราชการ เพื่อเพิ่มอายุและศักยภาพในการใช้งานของตัวอาคาร เช่นหากมีวัชพืชหรือเศษวัสดุอื่นๆที่ไหลมาทางด้านเหนือเขื่อน ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายต่อตัวอาคารประตูระบายน้ำเอง หรือทำให้อาคารไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ก็ขอให้ได้ช่วยกันกำจัดเศษวัสดุเหล่านั้นช่วยกันด้วย หรืออีกประการหนึ่ง สำหรับในส่วนของผนังกั้นน้ำ ถ้าเกิดมีความชำรุดเสียหาย หรือพังทลาย เนื่องจากฝนตกหนัก หรือมีสาเหตุอื่นๆ ก็ขอให้ช่วยกันซ่อมแซมให้กลับคืนสู้สภาพเดิม เป็นต้น แต่ถ้ามีอะไรที่เกินความสามารถของชาวบ้านในพื้นที่ ก็ขอให้แจ้งกับหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ได้รับทราบถึงปัญหา เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวต่อไป
สำหรับอีก 1 โครงการคือ โครงการประตูน้ำห้วยบางทราย บ้านดอนม่วย ตำบลบางทรายน้อย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 7 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ได้มีการส่งมอบให้กับโครงการชลประทานมุกดาหาร เพื่อรับไปดูแลบำรุงรักษา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ไปแล้วนั้น โดยโครงการประตูน้ำห้วยบางทราย ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 บ้านดอนม่วย ตำบลบางทรายน้อย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการพร่องระบายน้ำในช่วงต้นฤดูฝน และเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร การประมง และอื่นๆในช่วงฤดูแล้ง และเพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำโขงหนุน และไหลย้อนกลับเข้ามาท่วมพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ริมห้วยบางทรายด้วย โดยมีช่องระบานแบบตรง ขนาดกว้าง 99.20 เมตร สูง 8.00 เมตร จำนวน 10 ช่อง (ขนาดบานช่องละ 8.00*8.00 เมตร) มีพื้นที่รับน้ำช่วงฤดูฝน 8,000 ไร่ และในช่วงฤดูแล้ง 1,000 ไร่
ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ คือ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำและกระจายน้ำสำหรับการเกษตรช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรในตำบลบางทรายน้อย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 8,000 ไร่ ราษฎรที่จะได้รับประโยชน์จำนวน 10 หมู่บ้าน จำนวน 1,340 ครัวเรือน ใช้เป็นแหล่งน้ำและกระจายน้ำสู่แหล่งชุมชน สำหรับช่วยเหลือการอุปโภค – บริโภค ของราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตของโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดมากขึ้น และสามารถนำปลาที่จับได้ ออกมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย และยังทำให้ที่ดินที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ มีราคาสูงขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมรายได้ราคาการเกษตร ลดปัญหาการอพยพแรงงานเข้ากรุงเทพฯ และเขตเมืองด้วย
โดยนายไพทูรย์ สุขต่าย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมุกดาหาร ได้กล่าวว่า จังหวัดมุกดาหารนับว่าเป็นจังหวัดเดียวที่มีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า สภาพพื้นที่ของจังหวัดมุกดาหาร ถ้าเรามองพื้นที่ในแผนที่ประเทศไทยก็จะเห็นว่า มีพื้นที่ติดกับจังหวัดสกลนครและจังหวัดกาฬสินธุ์ แล้วก็จะมีลำน้ำต่างๆไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งทางชลประทานมุกดาหารหากได้รับมอบโครงการดังกล่าวมาแล้ว ก็จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ หรือเรื่องการใช้น้ำ แล้วก็การปิดเปิดประตูแต่ละครั้ง ไม่ใช่ว่าชลประทานจะลงไปปิดเปิดเอง แต่เราจะตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขึ้นมา จากนั้นก็จะทำการประชุมกันว่า เราจะเปิดกี่เดือน และจะปิดกี่เดือน ไม่ใช่ว่าจะไปปิดเปิดโดยพละการไม่ได้
ซึ่งหากจะกล่าวโดยรวมสำหรับโครงการทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อได้มีการส่งมอบให้กับ โครงการชลประทานมุกดาหารเพื่อรับไปดูแลบำรุงรักษาแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายให้กับราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพื่อให้พื้นที่ได้บริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรอันมีค่าในแถบลุ่มน้ำโขง ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป .
ภาพ/ข่าว ทีมข่าวภูมิภาค TOP NEWS ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ….รายงาน