“สุรพงษ์” ชี้ขนส่งทางรางไทยเฟื่องฟู BTS ฝากรัฐปี 67 วางแผนเชื่อมระบบโดยสารครบวงจร

“สุรพงษ์” บีทีเอส เผยระบบรถไฟฟ้าของไทยใกล้สมบูรณ์ ปี 67 ฝากรัฐบาลเชื่อมต่อระบบโดยสารสาธารณะครบวงจร เพิ่มความสะดวกประชาชน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยอดหนี้รวมภาระดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ระบุกทม.อยู่ระหว่างเดินเรื่องตามกฎหมาย และเร่งดำเนินการจ่ายเงินให้กับบีทีเอส

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบการขนส่งทางราง โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทย ว่า วันนี้ระบบราง หรือ ระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทยถือว่า เกือบจะสมบูรณ์ ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่เส้นทาง อย่าง รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ สีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) สีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งหากระบบหลักเหล่านี้เเล้วเสร็จ การเดินทางโดยรถไฟฟ้าก็จะครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งนี้ เมื่อระบบรถไฟฟ้าของไทยมีความครอบคลุมตามเส้นทางต่างๆ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ การสนับสนุนส่งเสริมระบบเสริมต่างๆ มากขึ้น ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากรถไฟฟ้าไม่สามารถที่จะให้บริการ แบบถึงหน้าบ้าน หรือ door to door ได้ จะต้องมีการเชื่อมระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก และเปลี่ยนมาใช้บริการระบขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดขึ้นได้

 

 

นายสุรพงษ์ ระบุว่า สำหรับแผนการให้บริการของบีทีเอส ในปี 2567 มีความมุ่งมั่นในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยมาตั้งแต่เริ่มให้บริการรถไฟฟ้า และเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจและได้รับใบรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ และที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบริษัท คือ ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยังยืน โดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2023 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และในปีนี้ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มอุตสาหกรรมคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม (Transportation and Transportation Infrastructure) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของแผนการลงทุน เนื่องจากในปี 2567 ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะเปิดให้บริการเต็มระบบ พร้อมเร่งดำเนินการส่วนต่อขยายที่เชื่อมไปยังเมืองทองธานี โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมถึงการติดตามและให้ความสนใจกับโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ซึ่งหากบริษัทจะสามารถเข้าร่วมได้ก็จะดำเนินการทันที

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายสุรพงษ์ ระบุว่า ในส่วนของการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง ) และสายสีชมพูนั้น ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนที่มาใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงที่เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี พบว่าทั้งสองเส้นทางมีประชาชนมาใช้บริการเฉลี่ยเกือบ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งหลังจากนี้ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น บริษัทจึงได้มีเเผนทำการตลาดเพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่มาใช้บริการทั้ง การเดินทางระยะสั้น และการเดินทางระยะยาว โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

 

แต่เชื่อว่า การให้บริการรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเส้นทางไหน จะต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากประชาชนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และขณะนี้บริษัทได้เปิดให้บริการเพียง 4-5 เดือน จึงยังต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ได้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ 100% เชื่อว่า หากสถานการณ์กลับมาปกติจำนวนผู้ใช้บริการจะใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 1 แสนคนต่อวัน

 

นายสุรพงษ์ ระบุว่า ในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้าแต่ละสายนั้น เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีชมพู เป็นคนละเจ้าของโครงการ โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัทเป็นเพียงผู้รับจ้างเดินรถ ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) บริษัทเป็นผู้รับสัมปทาน ในการเชื่อมต่อการเดินทางโดยใช้สถานีร่วมที่วัดพระศรีมหาธาตุ อยู่ระหว่างการประสานทั้งสองหน่วยงานในการให้ความยินยอมเห็นชอบการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งประตูเชื่อมต่อจะเปิดให้บริการได้ช่วงก่อนปีใหม่

 

ส่วนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ขณะนี้บริษัทได้มีการหารือเป็นการภายในถึงมาตรการนี้ ทั้งในเรื่องทางเทคนิค ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล หากจะมีการดำเนินนโยบายนี้ รอเพียงรัฐบาลเชิญเข้าหารือร่วมกัน และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เพราะขณะนี้รัฐบาลได้มีการดำเนินการในเส้นทางที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเเดง รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น

 

 

 

ส่วนการเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่เปิดให้บริการประชาชนฟรีมากว่า 4 ปี นายสุรพงษ์ ระบุว่า ขณะนี้ได้รับ การประสานล่วงหน้าจากกทม. รวมถึงได้รับการรับแจ้งอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการเก็บค่าโดยสารประชาชนในช่วงเดือนมกราคม 2567 ซึ่งหลังจากได้รับแจ้ง บริษัทได้ดำเนินการปรับระบบเรียบร้อย รอเพียงวันที่แน่นอน กทม. จะประกาศให้เก็บค่าโดยสารเท่านั้น

 

 

สำหรับภาระหนี้ระหว่างบีทีเอส บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ กทม. ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น นายสุรพงษ์ ระบุว่า ปัจจุบัน มียอดหนี้รวมภาระดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) รวมประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยกทม.อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย และพยายามเร่งดำเนินการจ่ายเงินให้กับบีทีเอส

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย
"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น