วานนี้ (27 ธ.ค.) นักศึกษาอินโดนีเซียหลายร้อยคน หลายคนสวมเสื้อแจ็คเกตติดตรามหาวิทยาลัยที่แสดงว่ามาจากหลายสถาบัน ยกพวกบุกเข้าไปในห้องจัดงานของอาคารรัฐบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองบันดาอาเจะห์ เมืองหลวงของจังหวัดอาเจะห์ ซึ่งใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับชาวโรฮิงญา 137 คน นักศึกษาต้องการให้ชาวโรฮิงญาเหล่านั้น ย้ายออกไปอยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจะได้เนรเทศต่อไป พวกเขาตะโกนว่า “ไล่พวกมันออกไป” “อาเจะห์ไม่เอาโรฮิงญา” และหลายคนยังได้เข้าไปเตะข้าวของของชาวโรฮิงญา จนเด็กและผู้หญิงหลายคนขวัญเสีย ร้องไห้กันระงม
ผู้สื่อข่าว AFP รายงานว่า ผู้ประท้วงบางส่วนตะลุมบอนกับตำรวจ ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ผู้ขอลี้ภัย และสุดท้าย ก็ต้องยอมให้ย้าย โดยตำรวจช่วยพาชาวโรฮิงญาขึ้นรถบรรทุกที่นักศึกษาเตรียมมา และพาพวกเขาไปยังอาคารรัฐบาลอีกแห่งที่อยู่ใกล้กัน
สำนักข่าว AFP อ้างนักศึกษาวัย 23 ปีคนหนึ่งว่า พวกเรามาประท้วงเพราะไม่เห็นด้วยกับการที่โรฮิงญายังหลั่งไหลมาที่นี่
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุในแถลงการณ์ว่า UNHCR วิตกความปลอดภัยของผู้ขอลี้ภัยอย่างยิ่ง และเรียกร้องหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอินโดนีเซีย รับประกันความปลอดภัยให้กับทุกฝ่าย และว่า การโจมตีผู้ขอลี้ภัยครั้งนี้ เป็นผลจากการประสานและรณรงค์ทางออนไลน์ ผ่านการให้ข้อมูลผิด ๆ และคำพูดสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา
นับตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน มีชาวโรฮิงญากว่า 1,500 คนแล้วที่ล่องเรือขึ้นฝั่งจังหวัดอาเจะห์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติบอกว่า เป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 8 ปี ขณะที่เรือบางลำโดนชาวบ้านผลักดันออกไป
ชาวอาเจะห์จำนวนมาก ที่เคยผ่านความขัดแย้งนองเลือดกับรัฐบาลกลางในจาการ์ตาหลายสิบปี เห็นใจชะตากรรมของมุสลิมด้วยกันในตอนแรกๆ แต่ในช่วงหลัง เริ่มไม่พอใจ อ้างว่าชาวโรฮิงญาเข้าไปแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด และหลายครั้ง ก็มีปัญหากับคนในพื้นที่
Videos of #Rohingyas seeking refuge in #Aceh #Indonesia being threatened after mob entered #refugee shelter demanding they be deported. >700,000 Rohingyas fled #Myanmar in 2017 after a violent #military crackdown. (Vid: Mohd Sadek) https://t.co/c4rlZOoBlJ #WhatsHappeningInMyanmar https://t.co/oxjVgdA0Nf pic.twitter.com/WpdTX3sTlj
— May Wong (@MayWongCNA) December 27, 2023