ผนึกเครือข่ายแรงงานระดมสมองทำคลอด “ร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระ”เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพ

กดติดตาม TOP NEWS

“มนัส โกศล” ผนึกเครือข่ายแรงงานระดมสมองทำคลอด “ร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระ” คิกออฟ ม.ค. 2567 ลุยจัดเวทีสาธาณะหาข้อสรุปจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพ หาทางออก “ลูกจ้างเหมาบริการของภาครัฐ” ชงข้อเสนอเชิงนโยบาย “แรงงานนอกระบบ” ดันเข้าสิทธิประกันสังคม ม.39 ม.40 ผุด “1อสต.1โรงงาน” ดูแลสิทธิแรงงานและสุขภาพแรงงานข้ามชาติ

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และ ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เริ่มหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายแรงงานนอกระบบด้วยการระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงาน “โครงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน” เบื้องต้นมีความเห็นว่าควรจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ให้ได้ข้อสรุปและตกผนึกทางความคิดร่วมกันที่จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระ พ.ศ… สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.กำหนดปัญหาของกฎหมาย/นโยบาย รวบรวมข้อมูล สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานเพื่อกำหนดปัญหาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 2.ขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย/นโยบาย จัดตั้งคณะทำงาน อันประกอบไปด้วยภาครัฐ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 3.แก้ไขกฎหมาย/นโยบาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน และ 4.ผู้ใช้แรงงานได้ประโยชน์หลังเกิดการแก้ไขกฎหมาย/นโยบาย

 

สำหรับเวทีสาธารณะ มี 4 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1. เวทีสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระ พ.ศ…กับการสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพกับแรงงานนอกระบบ หรือ แรงงานอิสระ โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักกฎหมาย และหน่วยงานภาครัฐจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อกับแรงงานนอกระบบมาร่วมกันหารือศึกษาและทบทวนร่างกฎหมายแรงงานนอกระบบที่แต่ละฝ่ายดำเนินการอยู่ให้ได้ข้อสรุปจนตกผนึกทางความคิดจากทุกฝ่าย 2 .เวทีสาธารณะ สิทธิและสวัสดิการต่อลูกจ้างเหมาบริการของภาครัฐ โดยจะหารือกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ระบบดูแลสุขภาพแบบใด 3. เวทีสาธารณะ สิทธิประโยชน์ประกันสังคมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เบื้องต้นมีข้อเสนอว่าควรได้รับสิทธิประกันสังคมตาม มาตรา 39 และ 40 อย่างไรก็ตามจะต้องมีการหารือกันว่าแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวจะมีความคิดเห็นอย่างไร

และ 4.เวทีสาธารณะ กฎหมาย นโยบาย และสิทธิแรงงานข้ามชาติ เบื้องต้นเคยมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้มี อาสาสมัครข้ามชาติในโรงงาน (อสต.) ทำหน้าที่คล้ายอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของกระทรวงสาธารณะสุข แต่ “อสต.” ในกฎหมายฉบับนี้อาจขึ้นอยู่กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพราะทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจสิทธิแรงงานและสิทธิสุขภาพในสถานประกอบกิจการอย่างน้อยควรมี 1 คนต่อ 1 โรงงาน ทั้งนี้ในแต่ละเวทีสาธารณะจะมีคณะอนุกรรมการย่อยเก็บรวบรวมข้อมูลและขับเคลื่อนงานเพื่อนำเสนอต่อเวทีใหญ่เพื่อนำไปเสนอเป็นตุ๊กตาของ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระ พ.ศ. ต่อกระทรวงแรงงานต่อไป โดยเวทีสาธารณะจะเริ่มดำเนินการภายในเดือน ม.ค. 2567  สำหรับตัวชี้วัดผลลัพธ์ของโครงการฯนี้ อาทิ เครือข่ายผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อน อย่างน้อย 20 เครือข่าย , ผู้นำแรงงานนอกระบบกลุ่มใหม่ จำนวน 50 คน , พัฒนาทักษะแรงงานอิสระ ยุค 4.0 (Gig Worker) เพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถ มีงาน มีรายได้ เพิ่มขึ้น อย่างมั่นคงและยั่งยืน , เกิดกระบวนการแก้ไขกฎหมาย/นโยบาย และ ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎหมายอย่างน้อย 1 หมื่นคน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น