สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศไทยกับ Regulate to Elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

กดติดตาม TOP NEWS

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้องปรับปรุงโดยคำนึงถึงเหตุปัจจัยด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการธำรงความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม

นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาปรับใช้ในการออกกฎหมายและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอีกด้วย ประเด็นสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเครือข่ายร่วมอาเซียน OECD เรื่อง แนวปฏิบัติด้านการกฎหมายที่ดี หรือ ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Network Meeting ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 และเป็นครั้งที่ 2 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อการประชุมในคราวนี้เป็นเรื่อง การยกระดับคุณภาพกฎหมายและบทบาทของนโยบายกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Regulate to elevate: The role of regulatory policy in promoting sustainable development)

เครือข่าย ASEAN-OECD GRPN ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิก OECD ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและมีหน้าที่ความรับผิดชอบพัฒนานโยบายด้านกฎหมายและกฎระเบียบของแต่ละประเทศ และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้สมาชิกเครือข่ายมีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ บทเรียน หรือองค์ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับคำแนะนำและแนวปฏิบัติของอาเซียนและ OECD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิมพ์เขียวด้านเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community Economic Blueprint และคำแนะนำของสภาประเทศสมาชิก OECD เรื่อง นโยบายกฎหมายและธรรมาภิบาล

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพกฎหมายมาโดยตลอด สำนักงานฯ เป็นหน่วยงานหลักในการนำหลักการมีกฎหมายที่ดี (Better Regulation Principle) ที่ปรากฏในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ในปัจจุบัน หน่วยงานของรัฐที่ต้องการเสนอร่างกฎหมาย ต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย (Regulatory Impact Assessment – RIA) พร้อมทั้งสอบถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบกลางทางกฎหมาย หรือ law.go.th เป็นอย่างน้อย และหน่วยงานผู้รับผิดชอบมีหน้าที่ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายในความรับผิดชอบของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำ RIA ประกอบการออกกฎที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือการประกอบธุรกิจอีกด้วย ซึ่งเป็นการปรับปรุงแนวปฏิบัติของไทยให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ OECD มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น