วันที่ 3 ม.ค. 67 ที่อาคารรัฐสภา ได้ประชุมสภาเพื่ออภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ซึ่งการประชุมวันวันนี้เป็นวันแรก จากทั้งหมด 3 วัน จะใช้รวมเวลา 43 ชั่วโมง แบ่งเป็น เวลาสส.ฝ่ายค้าน 20 ชั่วโมง สส.ฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี 20 ชั่วโมง
จากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2567 ตอนหนึ่งว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 67 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อ สส. เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2567 มีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.18 แสนล้านบาท รายจ่ายลงทุน 7.17 แสนล้านบาท รายจ่ายเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 1.18 แสนล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำแนกตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้
-ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 3.9 แสนล้านบาท อาทิ ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ,ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายเหตุรุนแรงลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2560, เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความผูกพันที่ดีระหว่างสถาบันหลักและประชาชน
-ยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน 3.9 แสนล้านบาท อาทิ พัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน ,พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ,สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ,เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
-ยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ 5.6 แสนล้านบาท อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา ,การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ,พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้
-ยุทธศาสตร์ด้านความเสมอภาค 8.3 แสนล้านบาท อาทิ เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ,พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ,สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ,กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
-ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม 1.3 แสนล้านบาท อาทิ การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล ,การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ,การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ,การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
-ยุทธศาสตร์ด้านบริหารจัดการภาครัฐ 6 แสนล้านบาท อาทิ ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ,รัฐบาลดิจิทัล ,พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ,พัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ