วิโรจน์ อัดรัฐบาลเมินวิกฤตการศึกษาไทย ห่วงผลสอบ PISA ไทยรั้งท้าย

วิโรจน์ อัดรัฐบาลเมินวิกฤตการศึกษาไทย ห่วงผลสอบ PISA ไทยรั้งท้าย

วันที่ 5 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ และวิกฤตทางการศึกษา โดยกล่าวถึงการสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติวัดทักษะและความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยจัดสอบทุก 3 ปี เพื่อประเมินค่าเฉลี่ยของคุณภาพคน และขีดความสามารถในการแข่งขันของพลเมืองแต่ละประเทศ สะท้อนคุณภาพการศึกษา และกลไกของรัฐในการพัฒนาพลเมือง ล่าสุดผลคะแนน PISA ปี 2565 ของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยเข้าสู่การทดสอบ PISA ตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมีแต่สาละวันเตี้ยลงโงหัวไม่ขึ้น ผลต่างระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วยิ่งทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ ไม่เคยนำเอาผลการสอบครั้งที่แล้วมาปรับปรุงระบบการศึกษา ปัจจุบันผ่านมา 24 ปีประเทศไทยจมปลักอยู่กับปัญหาเดิม รัฐบาลมองปัญหากลายเป็นเรื่องปกติ หลอนว่าระบบการศึกษาเป็นอัตลักษณ์ของประเทศถือเป็นวิกฤตของระบบการศึกษาไทย และเมื่อฟังคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ระบุว่า ”คงไม่เทียบมาตรฐานกับประเทศอื่นดีกว่าครับของเราก็เป็นตัวของเราเอง“ เมื่อคนระดับรัฐมนตรีมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นสไตล์ จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดงบประมาณปี 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการถึงเป็นงบประมาณแบบเดิม ”ทุกวันนี้การศึกษาไทยกำลังเดินหลงทาง มองไปข้างหน้าก็ไม่เจอใคร มองไปข้างหลังก็ไม่เจอคน มองซ้ายเจอฮวงซุ้ย มองขวาเจอป่าช้า แต่ก็ยังจะเดินหน้าต่อไป ยิ่งเดินต่อเสบียงยิ่งร่อยหรอ งบประมาณถูกใช้ไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้“ เราอยู่ในยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ชื่อ “เพิ่มพูน” แต่การศึกษาไทยถดถอยล้าหลัง นายวิโรจน์ เปรียบเทียบคะแนน PISA ของประเทศสิงคโปร์ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งคะแนนอยู่เหนือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มจะทิ้งห่างประเทศที่พัฒนาแล้วไปเรื่อย ๆ ส่วนประเทศเวียดนามเทียบเท่ามีคะแนนกับประเทศกลุ่มกลุ่มที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นผลการทดสอบ PISA ของไทยที่ตกต่ำมาโดยตลอด สะท้อนว่าพลเมืองของไทยอายุตั้งแต่ 17-39 ปีสู้พลโลกไม่ได้เลย

ไม่มีคำอธิบาย

 

เมื่อเอาผลคะแนนของแต่ละโรงเรียนมาวิเคราะห์โรงเรียนสาธิตเทียบกับโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ เพราะโรงเรียนสาธิตสามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง บูรณาการหลากหลายวิชาเข้าด้วยกัน ทำให้บริหารเวลาเรียนได้มีประสิทธิภาพการเรียนรู้เปิดกว้าง ขณะที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.เต็มไปด้วยอำนาจนิยม และการบูลลี่ ดึงเด็กออกมานอกห้องเรียน เพื่อทำกิจกรรมสร้างหน้าตาให้กับผู้บริหารสถานศึกษารอคนจากส่วนกลางมาตัดริบบิ้น จากผลวิจัยพบว่าการบูลลี่ในโรงเรียนส่งผลเสียต่อการสอบ PISA ทำให้ผลคะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ตกต่ำลง 35-55 คะแนน ซึ่งเมื่อดูในงบประมาณปี 2567 กลับไม่พบว่าจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา อำนาจนิยมและการบูลลี่ในโรงเรียน นายวิโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะติดอันดับโลกประมาณ 56 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตกวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน หักลบกับเวลานอน 8 ชั่วโมงก็เท่ากับเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต สะท้อนว่าเวลาเรียนในโรงเรียนไร้คุณภาพ อย่างไรก็ตามงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น ถือเป็นปัญหาใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ หากเทียบกับกระทรวงสาธารณสุขกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นการปฏิรูประบบจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ใช้งบประมาณและรายจ่ายอื่นไปกับ 3 เรื่อง ได้แก่ ส่งเสริมการป้องกันโรค เพิ่มศักยภาพทักษะทางวิชาชีพ และยกระดับมาตรฐานของสถานพยาบาล

ไม่มีคำอธิบาย

ข่าวที่น่าสนใจ

แต่เมื่อดูสัดส่วนของงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นของกระทรวงศึกษาธิการเทียบกับกระทรวงสาธารณสุขพบว่าสูงกว่าเป็นเท่าตัว ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 8.41% ส่วนกระทรวงศึกษาธิการอยู่ที่ 19.33% คิดเป็นมูลค่าเงิน 15,027 ล้านบาท และในปีต่อมาก็มีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเจ็บกระดองใจพยายามปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นในปี 2567 ซึ่งในปีนี้มีการปรับลดงบลดลงมาเหลือ 13.14% นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีงบประมาณในหลายโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนคำนวณว่ามีวงเงินต้องสงสัย 8,256 ล้านบาท เชื่อว่าสามารถปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นได้อีก โดยเฉพาะโครงการที่มีภารกิจซ้ำซ้อน โครงการที่สร้างภาระงานให้กับครูผู้สอน โครงการที่เต็มไปด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งมียอดรวม 2,117 ล้านบาท โครงการเหล่านี้มักจะตั้งชื่อให้เป็นคนดีเพื่อป้องกันการตัดงบ ใครที่ตัดงบประมาณก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่เห็นแก่เด็กตาดำ ๆ แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะทราบว่าโครงการเหล่านี้เป็นภาระแก่ครูและนักเรียน เช่น โครงการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันยาเสพติดโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และโครงการสร้างเสริมสร้างระเบียบวินัยและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งแค่อ่านชื่อยังสำลักในความดี โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้ผ่านวิชาโฮมรูม หรือสอดแทรกไปในวิชาสังคมศึกษาหน้าที่ พลเมือง สุขศึกษา แนะแนว โดยไม่จำเป็นต้องแยกโครงการเพื่อถลุงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีโครงการเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โครงการบริหารจัดการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาศึกษาตามศักยภาพในพื้นที่ โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนมีกองทัพหรือ กอ.รมน.ดำเนินการอยู่แล้ว เป็นภารกิจซ้ำซ้อน เป็นงบที่ กอ.รมน.เอามาฝากเลี้ยงไว้หรือไม่

ทั้งยังมีวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน สพฐ.ระบุว่าในปี 2566 มีอยู่ 14,996 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 29,312 แห่ง และยังมีโรงเรียนที่กำลังเล็กอีก 7,000 แห่ง โรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ประสบปัญหาขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อาคารสถานที่ขาดการดูแล กระทบกับสวัสดิภาพของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้โรงเรียนขนาดเล็กยังมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา นักเรียนหลายคนต้องเรียนกับทีวี โดยครูเอาใจใส่ไม่ทั่วถึง เพราะครูไม่สามารถสอนแบบเชื่อมจิตได้ กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจังเหมือนป่วยเป็นโรคร้าย แต่ให้กินแค่ยาพาราปล่อยให้ลุกลาม และตายไปเองตามยถากรรม การควบรวมโรงเรียนไม่เคยประสบความสำเร็จ มีแนวโน้มควบรวมน้อยลงราวกับว่าไม่มีปัญหาด้วย ซึ่งหากควบรวมตามยถากรรม คำนวณแล้วว่าต้องใช้เวลา 91 ปีกว่าจะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ และต้องถูกประจานผลคะแนน PISA ในเวทีโลกอีก 30 รอบ นายวิโรจน์ เสนอว่าหากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ใส่ใจกับการบริหารงบประมาณและแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะมีงบที่จัดสรรใหม่ได้ถึง 15,102 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำไปจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจ 4,000 ล้านบาทต่อปีให้กับ อบจ.ทั่วประเทศให้บริการรถรับส่งนักเรียนภายในจังหวัด เพิ่มงบประมาณให้ กสศ.สนับสนุนให้เด็กยากจนพิเศษและคนที่ตกหล่นทางการศึกษา ซึ่งใช้งบประมาณจัดสรรประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อปี และยังเหลือให้จัดสรรอีก 4,502 ล้านบาทต่อปี

ไม่มีคำอธิบาย

ไม่มีคำอธิบาย

“หากยอมจำนนให้กับระบบอำนาจกดขี่ ยอมให้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรล้างสมอง ขโมยเวลาชีวิตสุดท้าย เด็กต้องเติบโตเป็นพลเมืองที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจเป็นได้แค่บ่าวไพร่ที่คอยทำงานตามคำสั่ง แก่ตัวและตายจากไปในประเทศที่ต้องสาป ผมขออภิปรายเรื่องวิกฤติทางการศึกษาในสภาฯ เป็นครั้งสุดท้าย ผมวิโรจน์ ลักขณาอดิศรตายไปยังไงก็เป็นเถ้าถ่าน ขอไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567“ นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น