การส่งเสริมการลงทุนของ BOI
การส่งเสริมการลงทุนหลัก ๆ ของประเทศไทยจะมีอยู่ 2 ขาคือ การส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) อีกอันหนึ่งคือการส่งเสริมกิจการภายในประเทศ ซึ่งถ้าเราพูดถึง BOI เราจะพูดถึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเป็นสำคัญ และวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการลงทุนก็คือการดึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย
การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเริ่มต้นตั้งแต่สมัยปี 2501 เพราะมีการออกประกาศคณะปฏิวัติสมัยจอมพลสฤษดิ์ ท่านมีนโยบายที่จะวางแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 หลักใหญ่ใจความคือ น้ำไหลไฟสว่างทางดีมีงานทำ ตรงมีงานทำเราก็จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เอาคนที่เราทำงานในภาคเกษตรกรรมดั้งเดิมซึ่งค่าแรงถูกมาทำงานอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศแล้วก็จ้างแรงงานในประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน พอปี 2515 เกิดการตั้งอาเซียนโดยมุ่งเน้นในทางการค้าเป็นหลักขึ้นมา หลังจากนั้นก็เลยมีการตั้ง BOI เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศตามมา
อุตสาหกรรมที่รัฐมุ่งส่งเสริม
อุตสาหกรรมที่รัฐไทยมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราจะเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงเป็นหลักก็จะมีพวกยานยนต์สมัยใหม่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เรื่องการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ เรื่องการแปรรูปอาหาร ซึ่งเรียกว่าอุตสาหกรรม S-Curve และก็มี New S-Curve ขึ้นมาอีกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็คือเรื่องหุ่นยนต์ เรื่องของการบิน โลจิสติกส์ เรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ แล้วก็เคมีชีวภาพ และที่สำคัญแล้วก็ขาดไม่ได้เลยคืออุตสาหกรรมดิจิทัล ที่ตอนนี้รัฐบาลกำลังไปดึงพวก microsoft google มาลงทุนในประเทศไทยอยู่ และอันสุดท้ายที่เราเก่งคืออุตสาหกรรม medical hub การแพทย์
เหล่านี้ก็จะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของเราในปัจจุบัน ถ้าเป็นอุตสาหกรรม 10 กว่าประเภทที่ว่ามานี้เราก็จะมีการดึงดูดที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นหน่อย แต่ส่วนมากก็เน้นไปเรื่องเกี่ยวกับภาษีเป็นส่วนใหญ่ คือเราก็จะมี great period ก็คือช่วงที่ไม่เสียภาษีเลยคือช่วงที่แรกมาประกอบกิจการและส่งขายที่ยังไม่ได้กำไรเราก็ไม่เก็บเพื่อเป็นการดึงดูดให้เข้ามาลงทุน ซึ่งก็มีระยะเวลาที่แตกต่างกันไปตามประเภทของอุตสาหกรรม แต่พอพ้นระยะดังกล่าวมาก็ต้องเสียภาษีเหมือนกันแต่จะเป็นอัตราที่ดึงดูดมากกว่าธุรกิจอื่น
ปัญหาของประเทศไทย
ในช่วงแรกมีการลงทุนต่างประเทศเข้ามาเยอะมาก เราจะเห็น legacy ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทย แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีให้หลังก็เริ่มมีการทยอยย้ายฐานการลงทุนออกจากประเทศไทยเยอะ เพราะว่าค่าแรงเราไม่ได้ไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อก่อน ราคาค่าเช่าที่ดินเราก็ไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับ 10 ปีที่ผ่านมาเรามีความปัญหาความวุ่นวายความขัดแย้งทางการเมืองสูงมาก เรื่องระบบต่าง ๆ ระบบภาษีนอกจากที่ได้จาก BOI แล้วก็เรียกว่าแทบไม่มีอะไรเลยทำให้เขาตัดสินใจย้ายออกกันเยอะ
ถ้าเราไปดูกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเราจะพบว่า สิ่งที่ให้เป็นหลักอันที่หนึ่งก็คือการลดภาษีต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ อันที่สองก็คือ การให้เข้ามาถือครองทรัพย์สินได้บ้างเพื่อให้เขามาตั้งโรงงานเป็นต้น อันที่ 3 ก็คือการนำคนต่างชาติ นำแรงงานเข้ามาได้ถ้าขอ BOI แต่ในปัจจุบันวิวัฒนาการของโลกนั้นไปเร็วมาก พอมี WTO ก็ปรากฏว่า ระบบการค้าภาษีมันลดลงไปเป็นศูนย์เกือบหมดแล้ว ภาษีศุลกากรก็เป็นศูนย์เกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในปัจจุบันภาษีไม่ได้มีความหมายแล้วแต่ trade facilitation ต่างหากที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการลงทุนในยุคปัจจุบัน
ประเทศจีนกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
“ประเทศที่ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีเลยคือประเทศจีน เขาขีดเส้นวงนึงขึ้นมาเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และจัดวางเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ให้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาเลือกได้เลยว่าอยากได้ที่ดินตรงไหน ซึ่งระบบการปกครองเขาที่ดินเป็นของรัฐอยู่แล้ว จะให้ใครตรงไหนก็ไสามารถทำได้ พอประกอบกับค่าแรงที่ถูกและการเปิดเสรีทางการเงินนำเข้าส่งออกเงินได้ก็ทำให้ประเทศจีนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เยอะมาก แต่การที่จะเข้าไปลงทุนได้มีข้อสำคัญคือต้องใช้แรงงานจีนเท่านั้น และต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ ต้องจัด class สอนคนจีน เพื่อให้เกิดการพัฒนาของแรงงานในประเทศด้วย”
ประเด็นการถือครองที่ดินของต่างชาติ
การถือครองที่ดินของต่างชาติมีผลอยู่อย่างหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในหลาย ๆ ประเทศคือ ทำให้ราคามูลค่าของอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้น ที่ดินในปัจจุบันมีน้อยลง ที่ดินว่างมีน้อยลง ถ้าเกิดเราขายให้คนต่างชาติ แล้วเขาถือครองที่ดินไว้เยอะเวลาเขาขายคืนเราเขาก็จะโก่งราคาได้ และทำให้ราคาสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น หลายประเทศเขาปล่อยให้ทุนจากต่างประเทศเข้าไปซื้อที่ดินได้อย่างเสรี อย่างเช่น ในออสเตรเลียเมื่อสัก 10 ปีที่ผ่านมา คนจีนไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เต็มเลย แล้วทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น จนคนพื้นเมืองไม่สามารถที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ เขาจึงต้องออกกฎหมายมาควบคุมไม่ให้คนต่างด้าวเข้าไปถือครองที่ดิน
อันนี้คือประเด็นหลักของเรื่องการถือครองที่ดินของคนต่างชาติมากกว่า แต่สำหรับประเทศไทยถ้าเป็นที่ดินในนิคมคนต่างชาติก็สามารถซื้อได้แต่จะต้องทำตามกฎเกณฑ์ของ BOI เป็นหลัก เพราะกฎหมายก็จะเขียน เป็นเหมือนสิ่งจูงใจในการลงทุนเอาไว้ เช่น ถ้าเขามาลงทุนในประเทศไทยอย่างน้อย 40 ล้าน และประกอบกิจการไม่น้อยกว่ากี่ปีกี่ ก็สามารถซื้อที่ดินในนิคมได้ไม่เกิน 2-5 ไร่ เป็นต้น
สิ่งที่ประเทศไทยต้องแก้ไข
สำหรับประเทศไทยมีหลายเรื่องมากที่ต้องแก้ ทั้งเรื่องของการอำนวยความสะดวกในภาครัฐ ในแง่ของการอนุมัติอนุญาตอะไรต่างๆให้ เรื่องระบบภาษี เรื่องการลงทุนอะไรต่าง ๆ การนำเงินเข้า นำเงินออก การที่จะทำให้แรงงานหรือผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนได้สะดวกไม่ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน การปรับปรุงค่าเช่าให้ถูกลง การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้าง ecosystem ที่ดี เช่น มีโรงเรียนให้ลูกเขาเรียนได้ มีโรงพยาบาลที่เพียบพร้อม มีบ้านที่ปลอดภัยราคาถูก เป็นต้น ส่วนกฎหมายที่จะต้องแก้เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศก็มี อย่างเช่นกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในเรื่องบัญชีที่ห้ามทำ อย่าง บัญชีเรื่องของธุรกิจบริการซึ่งอยู่ในบัญชี 3 ที่เราห้ามให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจนั้นในทางนิตินัย แต่ว่าโดยพฤตินัยแล้วก็เข้ามาทำกันเต็มไปหมดเลย คำถามคือทำไมเราไม่มาทบทวนกฎหมายให้จริงจังแล้วดูว่า อะไรควรจะเลิกห้าม อะไรที่ควรจะเปิดโอกาสให้เขาทำได้ เพราะถ้าเราห้ามไว้มาก ๆ
นอกจากจะเป็นการปิดกั้นโอกาสแล้ว ยังทำให้คนไทยไม่พัฒนาตัวเองด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเราอยู่ใน comfort zone มีกฎหมายคุ้มครองเราอยู่ตลอด ซึ่งจะทำให้เราไม่เจอกับการแข่งขันที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาขึ้นมา แต่การจะส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่การแก้กฎหมายอย่างเดียวแล้วจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แท้จริงแล้วเราไม่ควรจะมีกฎหมายในจำนวนที่มาก เพราะการตรากฎหมายคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน ยิ่งมีกฎหมายมากเท่าใด ย่อมหมายความว่าคุณยิ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี มักจะได้ยินผู้คนกล่าวเสมอ ๆ ว่า เรื่องนั้นก็ยังไม่มีกฏหมาย เรื่องนี้ก็ยังไม่มีกฏหมาย ซึ่งอันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดมาก
ที่มา : สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รายเดือนสะสมปี 2565 (มกราคม-ธันวาคม); BOI: The Board of Investment of Thailand
ที่มาของเนื้อหาจัดทำโดย TU Law E Magazine