9 มกราคม 2567 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้ส่งความเห็นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการได้ส่งความเห็นไปให้ ครม. แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ก่อน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด แต่ยังไม่มีคำว่าไฟเขียว เนื่องจากกฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งต้องดูว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ พร้อมย้ำว่าตนตอบได้เพียงแค่นี้ เพราะเป็นนักกฎหมาย แต่สำหรับมาตรา 53 สามารถออกเป็นกฏหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนดก็แล้วแต่ เพราะถือเป็นกฎหมายทั้งคู่
ส่วนข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้างนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 ที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ และจะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้นำได้ ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขที่เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ความเห็นของกฤษฎีการับประกันได้หรือไม่ว่า รัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายึดตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และ มาตรา 9 รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ฉะนั้นยืนยันว่า หากทำตามแล้วปลอดภัยแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหารัฐบาลจะสามารถอ้างคำของกฤษฎีกาเป็นเกราะได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าทำตามเงื่อนไขก็ไม่มีปัญหา ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่าGDP โตไม่ทันนั้น คงไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจได้