10 มกราคม 2567 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567(ครั้งที่ 887) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบเอฟทีขายปลีกเรียกเก็บสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 39.72 สตางค์ต่อหน่วยตามสูตรการคำนวณเอฟที ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย
กกพ.เคาะแล้ว ค่าเอฟทีรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.67 สนองมติครม.
ข่าวที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ ได้ปรับปรุงการคำนวณดังกล่าวตามมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2566 (ครั้งที่ 166) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยมีรายละเอียดการปรับปรุงการคำนวณ ดังนี้
- 1. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 53/2566 (ครั้งที่ 881) มีมติเห็นชอบเอฟทีขายปลีกเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (โครงสร้างการคิดราคา Pool Gas แบบเดิมตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน)
- 2. ปรับปรุงตามมาตรการที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 25.37 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.43 บาทต่อหน่วย
- 3. ปรับปรุงราคาประมาณการ Spot LNG จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 14.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียูส่งผลให้สามารถลดค่าเอฟทีลงได้ 9.98สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.34 บาทต่อหน่วย
- 4. ปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 10.01 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.23 บาทต่อหน่วย
- 5. เรียกเก็บ Shortfall กรณีที่ผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2563 – 2565 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และให้ ปตท. ส่งผ่านเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท โดยให้นำมาลดค่าก๊าซในรอบเอฟทีงวด ม.ค. – เม.ย. 67 ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 4.47 สตางค์ต่อหน่วยและทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย
“หลังจาก กพช. และ ครม. ปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซเข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติและเพิ่มเติมมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน จากการคำนวณเอฟทีปกติในรอบ ม.ค. – เม.ย. 67 ส่งผลให้เอฟทีใหม่ในรอบดังกล่าวลดลงจาก 89.55 สตางค์ต่อหน่วยเหลือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วยตามมติ ครม. ทั้งยังคำนึงถึงต้นทุนการผลิต LPG อย่างเหมาะสมตามมติ กพช.”นายคมกฤชกล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยโดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท
“ถึงแม้ว่าราคาค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จะปรับลดลงตามแนวทางการคำนวณค่าเอฟทีใหม่ตามมติ กพช. และ ครม. แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไปจะขึ้นกับราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้น กกพ. ยังคงต้องติดตามความสามารถของการส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการจัดหา LNG เพิ่มเติมสอดคล้องกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาค่าไฟฟ้าคงต้องคำนึงถึงภาระเอฟทีคงค้างที่ต้องส่งคืน กฟผ. และ ปตท. ในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป จึงอยากให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการนำเข้า LNG และความผันผวนของราคาพลังงาน” นายคมกฤช กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง