กระทรวงกฎหมายและกิจการมหาดไทยแห่งสิงคโปร์ ซึ่งร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในรัฐสภา ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า รัฐบาลชุดนี้พยายามที่จะปกป้องสาธารณชนให้อยู่ดียิ่งขึ้น จากอาชญากรที่มีแนวโน้มสูงที่จะกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง หลังการปล่อยตัว โดยภายใต้ระบอบการปกครองที่เสนอ ผู้กระทำความผิดเหล่านี้จะต้องรับโทษจำคุกขั้นต่ำ 5 ถึง 20 ปี และจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เฉพาะในกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยพบว่า พวกเขาไม่เป็นภัยคุกคามต่อสาธารณะอีกต่อไป แต่หากพบว่าไม่เหมาะสมที่จะปล่อยตัว ก็อาจถูกควบคุมตัวต่อไปได้ตลอดชีวิต สำหรับกฎหมายนี้ จะใช้กับผู้กระทำผิดที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดที่รุนแรงหรือล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การฆาตกรรมและการข่มขืน
แถลงการณ์ระบุต่อว่า ทางเลือกในการพิพากษาลงโทษของประเทศในปัจจุบันนั้น จัดว่าไม่เพียงพอ ในการจัดการกับการกระทำผิดร้ายแรงเช่นนี้ โดยในปัจจุบันนั้น ผู้กระทำผิดดังกล่าวจะต้องได้รับการปล่อยตัวโดยอัตโนมัติ หลังจากได้รับโทษไปส่วนหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงภัยคุกคามที่พวกเขาอาจก่อขึ้นกับผู้อื่น ดังนั้น รัฐบาลต้องการที่จะแน่ใจว่า ผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตรายและมีแนวโน้มสูงที่จะทำผิดซ้ำ จะไม่ถูกปล่อยกลับคืนสู่ชุมชน จนกว่าพวกเขาจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของสาธารณะอีกต่อไป
ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณา ศาลก็จะสามารถตัดสินพิพากษาวางโทษเพื่อการคุ้มครองสาธารณะขั้นสูง (หรือ SEPP) แก่ผู้กระทำผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเฉพาะผู้กระทำผิดที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ณ เวลาที่กระทำความผิดเท่านั้น จึงจะได้รับการตัดสินพิพากษาวางโทษเพื่อการคุ้มครองสาธารณะขั้นสูง