วันที่ 16 ม.ค. 2567 ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดพิธีงานวันครูครั้งที่ 68 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด ”ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข“ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการจัดงานซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบคำขวัญวันครูว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์” พร้อมด้วย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการคุรุสภา ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และคณะครู-อาจารย์
นายเพิ่มพูน กล่าวรายงานว่า การจัดงานวันครูมีจุดประสงค์ 3 อย่าง คือ เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรม ความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน และเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมได้ปฏิบัติตาม
จากนั้น นายอนุทิน กล่าวบนเวทีว่า คำขวัญวันครูครั้งนี้ของท่านนายกฯ กล่าวว่า ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์ พวกเราทุกคนต่างรู้ว่า ครู คือปัจจัยตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาการ จะมีลูกศิษย์ที่ดีสักคนต้องมาจากการที่มีครูดี ครูที่เป็นแบบอย่างที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เพราะการเป็นครูในยุคปัจจุบันนี้มีการรเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การศึกษาของเยาวชนสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีระดับที่น้อยลง นี่คือความท้าทายของครู-อาจารย์
เด็กจำนวนมากคิดว่าความรู้อยู่บนโลกออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน รวมทั้งสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ทำให้นักเรียนไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากครูอาจารย์และผู้ปกครอง จะดีกว่าถ้าเราให้ฐานความคิดและเกาะป้องกัน ซึ่งจะตรงกับคำขวัญวันครูที่นายกฯ ได้มอบไว้ แต่การวางฐานคิดไม่ใช่เรื่องง่าย ครูอาจารย์จะต้องเรียกศรัทธาให้นักเรียนได้เชื่อมั่น ดังนั้นการเป็นครูที่มีศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องสร้างฐานให้กับลูกศิษย์ ต้องเป็นครูที่ไม่ตกยุค ไม่กลัวความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นครูสมัยใหม่กล้ารับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน
นายอนุทิน ย้ำอีกว่า ตนในฐานะศิษย์ที่เติบโตจากการบ่มเพาะสั่งสอนของครู ทำให้มีโอกาสได้มาทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองตามความตั้งใจตั้งแต่เด็ก สมัยตนเป็นนักเรียนรู้ว่าวันครูเป็นวันสำคัญ หวังว่าประเพณีนี้จะได้รับการสืบทอดต่อไป ในทุกบริบทของการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก จะมีคำว่าบิดามารดา สถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศ และตัวเราเอง นี้ถึงจะครบองค์ประกอบที่จะปลูกฝังให้เยาวชนไทย แม้โลกจะมีความก้าวหน้า แต่ประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีจะต้องได้รับการสืบทอดและปลูกฝัง การได้แสดงมุทิตาจิตทำให้จิตใจมีความละมุน ทำให้เกิดความเกรงใจ สำนึก หากเราใครเหยียดหยามเราก็จะอ้างว่า ”เราเป็นลูกมีพ่อมีแม่ เป็นศิษย์มีครู“
”เราเป็นคนไทยต้องมีเอกลักษณ์ แม้ปัจจุบันโลกนี้จะไร้พรมแดน แต่การจะทำให้เรายืนอยู่บนเวทีโลกหรือเวทีสากล จะต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ ทำให้เห็นว่าเรามีรากเหง้า มีพ่อมีแม่ มีครูอาจารย์ที่ทำให้เราต่อยอดหรือเจรจากับนานาประเทศได้ นี่ไม่ใช่สิ่งเกินความสามารถของครูอาจารย์“
ทั้งนี้ ในความเป็นศิษย์ขอแสดงความคารวะและมุทิตาจิตเพื่อระลึกถึงคุณครูทุกท่านทั้งในอดีตในปัจจุบัน และขอเชื่อมั่นศรัทธาต่อครูอาจารย์ในปัจจุบัน ที่ยังคงตั้งมั่นในการบ่มเพาะให้ลูกหลานที่เป็นอนาคตของบ้านเมือง