(เครดิตภาพปก Xinhua)
รายงานสถิติจากสำนักงานศุลกากรจีน ระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนในปี 2566 ทั้งสิ้น 1 ล้าน 4 แสนตัน เพิ่มขึ้น 69% จากปีก่อนหน้า( 2565) โดยที่การนำเข้าทุเรียนจากไทย ในแง่เงินดอลลาร์ จากเคยมีสัดส่วนสูงเกือบ 100% ในปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 95.36 % ในปี 2565 และลดฮวบมาอยู่ที่ 67.98% เมื่อปีที่แล้ว
เวียดนาม เข้ามาตัดส่วนแบ่งทุเรียนไทย หลังจากจีนเริ่มอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดได้ในปี 2564 ทำให้ยอดส่งออกไปจีนที่เริ่มจาก 0% เพิ่มเป็น 4.6% ในปี 2565 และ 31.8% เมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่ารวม 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในปีนี้ เวียดนามตั้งเป้าทำรายได้จากส่งออกทุเรียนแตะ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 55% ด้วยการเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น
ฟิลิปปินส์ ก็เข้ามาเฉือนส่วนแบ่งตลาดจีน หลังจากเมื่อต้นปี 2566 จีนตกลงให้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนมากปลูกบนดินภูเขาไฟอาโป บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ ยอดส่งออกทุเรียนฟิลิปปินส์ไปจีน ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 1.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สถิติศุลกากรจีนพบว่า ทุเรียนนำเข้าทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว มาจากฟิลิปปินส์ 0.2%
โจนาธาน ราเวลัส กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาอีแมนเนจเมนต์ในกรุงมะนิลา กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนยังให้น้ำหนักกับตลาดภายในประเทศ และส่งออกส่วนเกิน เนื่องจากการขนส่งทางเรือจากฟิลิปปินส์ ไปจีน มีต้นทุนสูงกว่าผู้ส่งออกรายอื่นในอาเซียน เพราะระยะทางและอุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่เวลานี้ ฟิลิปปินส์อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่ามีศักยภาพส่งออกได้ครั้งแรก บางที รัฐบาลอาจจะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร เช่น ห้องเย็น ก็เป็นได้
ในส่วนของจีน ที่ประกาศความสำเร็จปลูกทุเรียนบนเกาะไห่หนาน ได้ผลผลิตเป็นครั้งแรก เมื่อปีที่แล้ว แต่ยังผลิตได้เพียง 50 ตัน ไม่พอกับความต้องการของผู้บริโภคจีน เฟิง ซื่อเจี่ย ผู้อำนวยการฝ่ายผลไม้เขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน คาดการณ์ว่า ในปีนี้ ผลผลิตในประเทศจะเพิ่มเป็น 250 ตัน และคาดว่าจะแตะ 500 ตันในปีหน้า แต่ราคาและรสชาติของทุเรียนในประเทศจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูกันต่อไป
สำหรับมาเลเซีย ที่จีนยังอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง ไซมอน ชิน ผู้ก่อตั้งสมาคมส่งออกทุเรียน ดีคิง (Dking) กล่าวว่า มาเลเซียกำลังเจรจากับจีนเพื่อสำรวจลู่ทางส่งออกทุเรียนสด เหมือนกับประเทศไทย ให้สำเร็จในปีนี้ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์มาเลเซีย-จีน
ปิดท้ายที่ความเห็นของ แซม ซิน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา S&F โพรดิวส์ กรุ๊ป ในฮ่องกง ผู้ส่งทุเรียนจากไทย ที่บอกว่า ภาพรวม “ในแง่ของรายได้” จากการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในปีที่แล้ว ขณะที่ตลาดผู้บริโภคในเมืองขนาดกลางของจีนเริ่มจะสุกงอม ซิน กล่าวว่า “ทุเรียนยังไม่เคยพอในจีน ณ ขณะนี้ ตลาดเติบโตในเมืองที่พัฒนาขั้นที่ 1 กับขั้นที่ 2 ยังไม่ได้ไปถึงที่เมืองที่กำลังพัฒนาในชั้นที่ 3 4 และ 5 เลย