พรรคเพื่อไทย แจงยิบ 18 ข้อสงสัย “แลนด์บริดจ์” ประโยชน์ชาติ ข้อกังวลผลกระทบ

พรรคเพื่อไทย แจงยิบ 18 ข้อสงสัย "แลนด์บริดจ์" ประโยชน์ชาติ ข้อกังวลผลกระทบ

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 ทวิตเตอร์พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อมูลการตอบคำถาม 18 ข้อ เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยนายดนุพร ปุณณกันต์ สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ

1.โครงการแลนด์บริดจ์จะใช้ระยะเวลาในการขนส่งและงบประมาณเท่าไหร่

ตอบ : โครงการแลนด์บริดจ์ จะมีการบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงสองท่าเรือ และระบบขนส่งด้วยทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วยลดเวลาได้อย่างน้อยประมาณ 5 วัน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ

2.อุตสาหกรรมที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมประเภทใด

ตอบ : เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้ประชาชนในพื้นที่ได้พัฒนาเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ เช่น การแปรรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล ผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ และหากอุตสาหกรรมใดที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องมีการดำเนินการขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด

3.สินค้าที่มาใช้บริการท่าเรือมีอะไรบ้าง มาจากที่ใด

ตอบ : สินค้ากลุ่มนำเข้า/ส่งออก จะมาจากทุกส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร, ยางพารา, ปาล์ม, น้ำมัน, สินค้าฮาลาลโดยเน้นพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโลก, อุตสาหกรรม AI, และสินค้าผ่านแดน ที่มาจากการเชื่อม 2 ฝั่งทะเลและจีนตอนใต้

 

 

4.จะมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซหรือไม่

ตอบ : ในแผนพัฒนาโครงการ ไม่มี แต่หากเรือสินค้าที่เข้า-ออก มีความจำเป็นต้องเติมน้ำมัน ในผังแม่บทจะรองรับการก่อสร้างถังเก็บน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในอนาคต ที่ต้องขออนุญาตให้ถูกกฎหมายต่อไป

5.แลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ภาคธุรกิจหลายส่วน ทำให้เกิดความสับสนไม่ชัดเจน

ตอบ : แลนด์บริดจ์เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, กรมทางหลวง และ การรถไฟแห่งประเทศไทย

เกี่ยวกับการดูแล รับฟัง เยียวยาประชาชน

6.จะแจ้งให้ชุมชนทราบก่อนจะมีการดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การสำรวจพื้นที่ การปักหมุดที่ดิน หรือไม่

ตอบ : จะมีการแจ้งข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้นำชุมชนในพื้นที่ได้รับทราบก่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

7.มาตรการในการชดเชยเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ

ตอบ : โครงการจะแต่งตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อหาสาเหตุของปัญหา รวมทั้งการจัดการเรื่องการเยียวยา ซึ่งคณะกรรมการกลางมีตัวแทนมาจาก 3 ฝ่าย คือ เจ้าของโครงการ ภาครัฐ และภาคประชาชน

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

8.หลักเกณฑ์พิจารณาการเวนคืนที่ดิน

คำตอบ : พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ พิจารณาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 สำหรับราคาในการจ่ายค่าทดแทนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการกำหนดราคาฯ จะนำปัจจัยหลาย ๆ ด้านมาประกอบการพิจารณา โดยจะไม่ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์มากำหนดราคา เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก และในส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์/ที่ดิน ส.ป.ก. จะประสานกับกระทรวงเกษตรฯ และจะเจรจาด้านผลประโยชน์จากผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. โดยมีแนวทางเพื่อเสนอประกอบการอนุมัติโครงการฯ เช่น การชดเชยค่ารื้อย้าย ค่าชดเชยพืชผล ต้นไม้ หรือการจัดที่ดิน ส.ป.ก. แปลงอื่นให้ หรือการจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ รวมถึงเงินเยียวยาที่ต้องโยกย้ายออกจากที่ดิน เป็นต้น

9. จะกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชน และประมงพื้นบ้านในการเดินทางหรือไม่

ตอบ : ประชาชนสามารถสัญจรลอดผ่านสะพานข้าม หรือบริเวณร่องน้ำเดินเรือได้ตามปกติ โครงการจะมีระบบควบคุมการเดินเรือเข้าออก และกำหนดพื้นที่ทำการประมงให้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของกลุ่มประมงในพื้นที่

10.มีหลักเกณฑ์การพิจารณาการชดเชยพืชพรรณ ต้นไม้ ในกรณีที่ถูกเวนคืน อย่างไร

ตอบ : การพิจารณาการชดเชยต้นไม้ที่มีมูลค่า อ้างอิงจากราคาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน และหากไม่พบรายชื่อพันธุ์ไม้ตามบัญชี ทางคณะกรรมการพิจารณาเทียบเคียงจากชนิด ประเภทที่ใกล้เคียงที่สุด

11.มีการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร

ตอบ : ทางโครงการจะจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้เกิดความเข้าใจ การรับรู้ภาพรวมในการพัฒนาโครงการ โดยกำหนดช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมและทั่วถึงกลุ่มเป้าหมาย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูล ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาศึกษาโครงการ

เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

12.จะมีปัญหาการรั่วไหลของน้ำมัน/คราบน้ำมัน หรือไม่

ตอบ : โครงการจะมีการศึกษาผลกระทบน้ำมันรั่วไหล/คราบน้ำมัน ทั้งในช่วงก่อสร้างและดำเนินการ และจัดตั้งทีมปฏิบัติงานจัดการเหตุรั่วไหลพร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุดังกล่าว

13.จะมีปัญหาน้ำท่วมขังหรือไม่?

ตอบ : โครงการแลนด์บริดจ์ ออกแบบโดยสำรวจสภาพปัจจุบันของพื้นที่ เพื่อการก่อสร้างที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขวางทางน้ำ

14.สนข.ได้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) หรือไม่

ตอบ : สนข. ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในช่วงปี พ.ศ.2559 ซึ่งใช้เป็นกรอบการพิจารณาของรัฐบาลในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

 

15.การพัฒนาโครงการจะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในทะเลเกิดการกัดเซาะในพื้นที่ และกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่

ตอบ : มีการศึกษาข้อมูลสภาพปัจจุบัน และใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในการจำลองการฟุ้งกระจายของตะกอน จากการก่อสร้าง ซึ่งสามารถระบุบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ โดยจะนำผลการศึกษาดังกล่าวมากำหนดมาตรการการป้องกัน แก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

16. การจัดการน้ำจืดและปัญหาการแย่งน้ำใช้จากธรรมชาติที่ประชาชนใช้อยู่ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ตอบ : ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการจะต้องมีการสำรวจการใช้แหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อวางแผนและออกแบบ ไม่ให้กระทบกับผู้ใช้แหล่งน้ำเดิม และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป

17.ผลกระทบต่อพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าชายเลน พื้นที่ทะเลและชายฝั่ง สัตว์น้ำและสัตว์ป่า การเวนคืนที่ดิน และการอพยพย้ายถิ่นฐาน

ตอบ : ในการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการจะมีการรวบรวมข้อมูลและสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องครอบคลุมปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ, ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ, คุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่อไป

18. การพัฒนาโครงการจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนหรือไม่

ตอบ : โครงการจะยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้โครงการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนควบคู่กับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนท้องถิ่นผ่านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยมีแหล่งเงินทุนในระยะก่อสร้าง จากผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้ดำเนินการถมทะเลสมทบเงินเข้ากองทุนสำหรับระยะดำเนินการ ผู้ประกอบการท่าเรือแต่ละแห่งบนพื้นที่ถมทะเลจะเป็นผู้สมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น