นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือระนอง เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมมือกรมเจ้าท่าขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเล ส่งเสริมกิจกรรมขนส่งชายฝั่งอันดามัน กลุ่ม BIMSTEC หนุนแลนบริดจ์ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้
วันนี้ (22 มกราคม 2567) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะตรวจราชการร่วมลงพื้นที่ฯ รับฟังความคืบหน้าภาพรวมโครงการของท่าเรือระนอง (ทรน.) และโครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรือระนอง โดยมีนายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำโดย นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ ผู้บริหารสำนักท่าเรือภูมิภาค พนักงาน กทท. หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำส่วนท้องถิ่น ให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือระนอง จังหวัดระนอง
ท่าเรือระนองเป็นท่าเรือสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งอันดามันของประเทศ ตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC (บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา และไทย) และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยในปัจจุบัน กทท. มีแผนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือระนอง ขยายหน้าท่าเทียบเรือให้สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีขนาด 12,000 เดทเวทตัน และตั้งเป้าให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้มากขึ้น สำหรับท่าเทียบเรือที่ 2 จะดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างที่ชำรุดเพื่อให้มีความปลอดภัยในการรองรับเรือบรรทุกสินค้า นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างท่าเทียบเรือ 3 และลานวางตู้สินค้าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับการให้บริการของ ท่าเรือระนอง ในระยะยาว ตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) และเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC)
ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเทียบเรือแล้ว ร่องน้ำทางเดินเรือที่มีความลึกเหมาะสมถือเป็นอีกปัจจัยที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินโครงการจ้างเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำท่าเรือระนอง ขนาดความกว้าง 120 เมตร ลึก 12 เมตร ความยาว 28 กิโลเมตร ระยะทางจากปากร่องเกาะช้างจนถึง ท่าเรือระนอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับเรือสินค้าที่มีขนาดใหญ่กินน้ำลึกมากกว่า 8 เมตร ให้สามารถเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือระนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าที่สำคัญในฝั่งอันดามันที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางทะเลกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC และจีน ซึ่งการที่จะพัฒนาท่าเรือระนองให้สามารถเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกได้อย่างเป็นรูปธรรม จะต้องมีการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือ และพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค เครื่องมือทุ่นแรง รวมถึงการให้บริการให้สามารถรองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เชื่อว่าหากโครงการขุดลอกร่องน้ำฯ ของกรมเจ้าท่า และโครงการขยายท่าเทียบเรือระนองของ กทท. สำเร็จตามแผน ท่าเรือระนองจะเป็นท่าเรือที่พร้อมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศ และจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ของรัฐบาล” รชค. มนพรฯ กล่าว
ปัจจุบันท่าเรือระนองมีภารกิจหลักในการให้บริการพื้นที่สำหรับวางตู้สำนักงาน ฝากเก็บสินค้า รวมทั้งเป็นท่าเรือสำคัญในการรองรับการให้บริการเรือ Offshore Supply หรือเรือสนับสนุนกิจการนอกชายฝั่ง มีหน้าที่ในการขนวัสดุอุปกรณ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Supply Base) เช่น ท่อเหล็กขนาดต่างๆ พาเลทสารเคมี น้ำมันแบไรต์ แผ่นรองรับน้ำหนัก ฯลฯ สำหรับกลุ่มบริษัทผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเป็นท่าเรือที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่งออกปูนซีเมนต์สำเร็จรูปบริเวณฝั่งอันดามัน อ่าวเมาะตะมะ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
สำหรับผลการดำเนินงานของท่าเรือระนอง ในปีงบประมาณ 2566 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 พบว่าปริมาณเรือเทียบท่า 167 เที่ยว เพิ่มขึ้น 12 เที่ยว (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.74) ปริมาณสินค้าผ่านท่า 92,461 ตัน เพิ่มขึ้น 25,624.00 ตัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.34) เนื่องจากบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการขุดเจาะและสำรวจฯ ทำให้ปริมาณสินค้าขาเข้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ท่าเรือระนองมีเป้าหมายในการทำกำไรเพิ่มขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อ SEC GMS จีนตอนใต้ อาเซียน และ BIMSTEC ต่อไป