จีนขยายอิทธิพลเข้าสู่อัฟกานิสถานอย่างเงียบๆ ในขณะที่ทั่วโลกต่อต้านรัฐบาลตาลีบัน
ในขณะที่ทั่วโลกต่อต้านรัฐบาลตาลีบัน แต่จีนกำลังเพิ่มความสัมพันธ์ทางการฑูตและเศรษฐกิจกับอัฟกานิสถาน ในเดือนกันยายน จีนกลายเป็นประเทศแรกที่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่ประจำกรุงคาบูล และเมื่อวันอังคาร นายบิลาล คาริมี เอกอัครราชทูตของรัฐบาลตาลีบันประจำกรุงปักกิ่ง พร้อมด้วยนักการทูตอีกหลายสิบคน ได้ยื่นสาส์นตราตั้งต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่มหาศาลาประชาชน
ซึ่งหลังจากนั้นนาย วาง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวในการแถลงข่าวประจำวันยืนยันว่า นโยบายของจีนต่ออัฟกานิสถานมีความชัดเจนมาโดยตลอด คือเป็นประเทศที่เป็นมิตร และยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการฑูตและการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ และ จีนเชื่อเสมอว่าอัฟกานิสถานไม่ควรถูกแยกออกจากประชาคมระหว่างประเทศ และหวังว่าประเทศต่างๆจะติดต่อกับอัฟกานิสถานมากขึ้น
เมื่อเดือนที่แล้ว จีนร่วมกับรัสเซียในการงดออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการแต่งตั้งทูตพิเศษประจำอัฟกานิสถาน เพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีและคุ้มครองชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลตาลีบันคัดค้านอย่างรุนแรง ในทางกลับกันตาลีบันก็ไม่พูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นที่จีนถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ ที่เป็นมุสลิมในภูมิภาคซินเจียงของจีน ซึ่งมีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน
การเชื่อมสัมพันธ์กับตาลีบัน ทำให้จีนสามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่ไม่ว่าจะเป็นทองแดง ลิเธียม หรือแร่หายาก ที่ยังไม่ถูกขุดออกนำมาใช้ของอัฟกานิสถาน ซึ่งทันทีที่ได้นาย คาริมี ได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำกรุงปักกิ่ง ในเดือนธันวาคม เขาได้เข้าหารือกับรัฐวิสาหกิจจีน ในการทำเหมืองแร่ทองแดงที่ เมส ไซนัคแหล่งทองแดงที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ห่างจากกรุงคาบูล เมืองหลวงประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งจีนได้รับสิทธิตั้งแต่ปี 2551 แต่โครงการนี้ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากสงครามและความไม่มั่นคง
อีกทั้งเมื่อปีที่แล้ว จีนยังได้ลงนามในสัมปทานผลิตน้ำมันระยะเวลา 25 ปี จากพื้นที่บริเวณแม่น้ำอามูดาร์ยา ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน รวมถึงจีนได้เข้าลงทุนในด้านพลังงานแสงอาทิตย์
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายไหมใหม่ ขณะนี้มีการก่อสร้างถนนความยาว 300 กิโลเมตรเชื่อมต่อจังหวัดบาดัคชาน กับชายแดนจีน ซึ่งการเชื่อมโยงใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นการค้าอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งอัฟกานิสถานยังสามารถบูรณาการเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ซึ่งนำไปสู่ท่าเรือกวาดาร์ ที่เป็นช่องทางยุทธศาสตร์สำหรับจีน ในทะเลอาหรับทางตอนใต้ของปากีสถานอีกด้วย