ปัญหาความยืดเยื้อยาวนาน กว่า 4 ปี สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ด้วยมีกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ของ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ทั้งประเด็นการยกเลิก การ แก้ไข เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก หรือ ร่างประกาศเชิญชวน (Request for Proposal: RFP) จนกลายเป็นคดีความ ที่ยังค้างคาอยู่ ส่งผลให้ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ยังไม่สามารถดำเนินการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาอนุมัติดำเนินการได้
โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า ” จะต้องรอผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดก่อน เพราะขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จึงไม่สามารถดำเนินการได้ และต้องรอคดีถึงที่สุดเสียก่อน หรือแม้กระทั่งจะต้องมีการพิจารณาประมูลโครงการนี้ใหม่หรือไม่ ก็ต้องรอผลการตัดสินของศาล”
แน่นอนว่าประเด็นนี้สำคัญ เพราะ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยาน เคยย้ำข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ หลายครั้ง ว่า ความล่าช้าที่เป็นเหตุจากการประมูลของรฟม.และนำไปสู่การฟ้องร้องของบริษัทเอกชน ก่อให้เกิดความสูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศถึงปีละ 4.6 หมื่นล้านบาท
ความล่าช้าดังกล่าวไม่เพียงแต่คดีความที่รอคำตัดสินของศาล เท่านั้น ล่าสุด ยังพบข้อมูลสำคัญ ที่ต้องถูกตั้งคำถาม ถึงเรื่องความโปรงใสในการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ ฯ ดังกล่าว คือ หนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ยธ. 0851 / 2803 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2566 เรื่อง แจ้งผลสอบสวนเพิ่มเติม นำเรียน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ ลงนามโดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้มีการรายงานผลการสอบสวนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุถึงความผิดที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่้ของคณะกรรมการคัดเลือก โดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล อย่างครบถ้วนจนอาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ระบุใจความสำคัญว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งเรื่องบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร้องเรียนขอให้ดำเนินคดีอาญากรณีประกาศเชิญชวน การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฉบับลงวันที่ 24 พ.ค.2565