ในที่สุด “พรรคเพื่อไทย” จำเป็นต้องเล่นตามน้ำตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ หรือ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณา ภายหลังโดนถล่มยับว่าเตะถ่วงเพื่อรอให้คนชั้น 14 ได้รับการพักโทษไปนอนตีพุงอยู่บ้านจันทร์ส่อหล้าเสียก่อน คาดว่าน่าช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จึงไม่ต้องเร่งเครื่องดัน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะคงเคยมีบาดแผลฉกรรจ์มาแล้วสมัยเข็น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยลักหลับในช่วงกลางดึกในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หวังล้างผิดให้นายใหญ่ที่เป็นเจ้าของพรรคตัวจริง จนเกิดกระแสต่อต้านจาก “กปปส.” หรือ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ภาพมวลมหาประชาชนนับล้านลงถนนขับไล่รัฐบาลยังคงตามหลอกหลอน “พรรคเพื่อไทย”
และอาจมองได้ว่านายใหญ่ไม่จำเป็นได้อานิสงส์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ก็เป็นได้ จึงไม่อยากไปแบกเผือกร้อน เพราะกลัวว่าอาจะทำให้พรรคเพื่อไทย โดนหางเลขสะเทือนไปถึงคนชั้น 14 แต่เมื่อพรรคเพื่อไทย ถูกกดดันหนักเข้าจากเครือข่ายภาคประชาชน จึงยอมเร่งเครื่องดัน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังนั้นจึงมาสแกนจุดยืนของพรรคร่วมแต่ละพรรคมีจุดยืนอย่างไรในเรื่องนี้โดยเฉพาะ มาตรา 112
เริ่มกันที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้านิรโทษกรรมมี 112 เลิกคุยกัน พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนชัดเจนและไม่มีปัญหากับกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และแกนนำพรรคภูมิใจไทย เคยอภิปรายอย่างดุเดือด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ขวางลำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ไม่โหวตให้ นายกฯ ที่แตะมาตรา 112 จนทำให้ นายพิธา กลายเป็น “นายกฯว่าว” ชวดตั้งรัฐบาลแดงส้ม
ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คัดค้านการนิรโทษกรรม บรรจุลงในนโยบายพรรคเสียด้วยซ้ำว่า บุคคลใดที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ชีวิต หรือระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ การนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ฝ่าฝืนและทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112