กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกจับตา แนวทางการแก้ไของภาครัฐ โดยเฉพาะ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ว่าจะตัดสินใจอย่างไร กับการประมูลโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ผ่านพ้นไปแล้ว ภายหลังมีการเผยแพร่ข้อมูล หลักฐานที่ถูกตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พบว่า มีความไม่ปกติเกิดขึ้น ในกระบวนการทำงานของ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้เข้าร่วมประมูลอย่างครบถ้วน จนอาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิศษได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เรียบร้อยแล้ว
“คณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในขั้นตอนแรก กลับไม่ตรวจสอบคุณสมบัติเป็นเหตุให้ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้ยื่นเสนอราคาหนึ่งในสองรายได้รับการประกาศให้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ ทั้งที่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก อันเป็นกรณีที่มีลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564”
ต่อมา TOP NEWS ตรวจค้นเจอเอกสาร รายงานการประชุม คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 ซึ่งมี นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าฯรฟม. ในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ร่วมกับกรรมการ อีก 7 ท่าน พบว่า ในการรายงานผลการประเมินเอกสาร ด้านคุณสมบ้ติของผู้เข้าร่วมประมูล ของ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา BMTO ซึ่ง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการว่าจ้าง ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ , จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535
โดยเอกสารดังกล่าว ระบุเป็นข้อความ ไว้ในหน้าที่ 14-15 ของรายงานการประชุม ที่ปรึกษา BMTO ยอมรับในที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติของ ITD มีเอกสารบางส่วนที่ต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม จากข้อมูลที่นำเสนอ รวมถึงการจัดหาข้อมูลจากเว็บไซด์ทางการของ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ซึ่งโดยนัยก็คือความนำเสนอข้อมูลของ ITD ไม่ครบถ้วนมาตั้งแต่ต้น แม้ ที่ปรึกษา BMTO จะพยายามเบี่ยงเบนด้วยข้ออ้างว่า “เอกสารส่วนใหญ่มีความถูกต้อง ครบถ้วน มีการรับรองเอกสารถูกต้อง”
ประเด็นสำคัญ ก็คือ กระบวนการประเมินคุณสมบัติ มีกำหนดไว้เป็นระเบียบชัดเจนว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติ ตามที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารข้อ 10 และ สอดคล้องตามข้อกำหนด รวมถึงย้ำว่า การประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ถือเป็นขั้นตอนหลัก ว่าด้วยการประเมินว่าคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล ว่า ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน และ ชุดเอกสารนำเสนอต้องมีความครบถ้วน มีความถูกต้องของเอกสาร ตามข้อเสนอแนะ มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และ ซองที่ 3 โดยจะมีการส่งข้อเสนอซองที่ 2 , ซองที่ 3 และ ซองที่ 4 คืน
ดังนั้นโดยข้อเท็จจริง การยื่นเอกสาร เพื่อประกอบการประเมินคุณสมบัติ ของ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งมีความไม่ครบถ้วน ตามรายงานของ ที่ปรึกษา BMTO และที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต้องถือว่า การยื่นเอกสารของ ITD ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และ ซองที่ 3