ส่องเจอตัวอะไรใน "สตรอว์เบอร์รี" กินไปหลายลูกแล้วไม่ได้ล้าง อ.เจษฎ์ ไขข้อสงสัย จะเป็นอะไรมั้ย แนะ 5 วิธีล้างผักและผลไม้ จะได้กินอย่างสบายใจ
ข่าวที่น่าสนใจ
“สตรอว์เบอร์รี” 100 กรัม มีวิตามินซีมากถึง 80 – 90 มิลลิกรัม ซึ่งสูงกว่าส้ม 1.5 เท่า สูงกว่ามะเขือเทศ 4 เท่า และสูงกว่าแอปเปิ้ล 10 เท่า ด้วยความที่มีวิตามินซีสูงมาก Strawberry จึงได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งวิตามินซี หากเรารับประทาน Strawberry 6 – 7 ผลต่อวัน เราก็จะได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ก่อนรับประทาน ควรล้างด้วยน้ำสะอาด หรือแช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดา ก็จะช่วยลดสารเคมีตกค้าง และแมลงที่อาจจะอยู่บนผลได้ด้วย
นี่ตัวอะไร?
น่าจะช็อกอยู่พอสมควร ถ้าหากใครส่องเจอแมลงใน Strawberry หลังจากกินไปหลายลูกแล้วไม่ได้ล้าง โดย ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามหลังไมค์ กรณีที่มีสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊กท่านหนึ่ง โพสต์ภาพที่น่าจะเป็นการเอาผล Strawberry มาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เห็นแมลงหลายขา ตัวหนึ่ง บน Strawberry พร้อมเขียนแคปชั่นบอกว่า “ตัวอะไรหรอคะ ส่องเจอใน Strawberry กินไปหลายลูกแล้วไม่ได้ล้าง เอามานั่งส่องดูเล่น ๆ ก็ดันเจอ”
ดร. เจษฎา บอกต่อว่า ซึ่งถ้าดูจากพวกศัตรูพืชที่พบบ่อย ๆ บนสตรอว์เบอร์รี เช่น เพลี้ยไฟ ไรสองจุด เพลี้ยอ่อน หนอนด้วงขาว หนอนกระทู้ผัก ทาก ตัวที่เห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์นั้น ก็น่าจะเป็น “เพลี้ยอ่อน” ครับ จากลักษณะเด่นที่ด้านท้ายของตัวเพลี้ยอ่อน มีท่อยื่นออกมา 2 ท่อ
เพลี้ยอ่อน บน Strawberry นั้น ถ้าเผลอรับประทานเข้าไป ก็ไม่ได้เป็นพิษร้ายแรงต่อร่างกายของเรา เพียงแต่ถ้าทำได้ ก็ไม่ควรจะกินมันเข้าไป อย่างน้อยก็ควรจะทำความสะอาดผล Strawberry ล้างออกไปให้มากที่สุดด้วยน้ำสะอาด หรือแช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดา (อัตราส่วนผงเบกกิ้งโซดา ครึ่งช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร) แช่ไว้ 15 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำไหลผ่านให้สะอาดอีกครั้ง (วิธีนี้ยังช่วยลดสารเคมีตกค้างที่อยู่ในสตรอว์เบอร์รีด้วย) และถ้าคิดในแง่ดี Strawberry ที่ซื้อมา แล้วเจอเพลี้ยปนอยู่ด้วย ก็แสดงว่าไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลงมากนักนะครับ
เพลี้ยอ่อน?
เพลี้ยอ่อน ใน Strawberry เป็นแมลงปากดูด จะดูดน้ำเลี้ยงของใบ ก้านใบ ทำให้ใบหยิกย่น ด้านท้ายของเพลี้ยอ่อนมีท่อยื่นออกมาสองท่อ ใช้ปล่อยสารน้ำหวานที่เป็นอาหารของเชื้อรา ทำให้พืชเกิดราดำ พืชจะสังเคราะห์แสงลดลง ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
แล้วนอกจาก เพลี้ยอ่อน แล้ว ศัตรูที่สำคัญ ของ “สตรอว์เบอร์รี” นั้นมีอะไรอีกบ้าง ไปดูกันเลย
เพลี้ยไฟและไรสองจุด?
เพลี้ยไฟ และ ไรสองจุด จะเข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงโดยเฉพาะในส่วนใบบริเวณใต้ใบ ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายมีลักษณะกร้าน ใต้ใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ทำให้ Strawberry ชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกรน ให้ผลผลิตน้อย ถ้าเข้าทำลายผล จะทำให้ผิวของผลกร้านไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และมักพบการระบาดในช่วงที่อากาศแห้งตความชื้นต่ำ
หนอนด้วงขาว?
หนอนด้วงขาว ใน Strawberry ปากมีลักษณะปากกัด เจริญเติบโตจากไข่ที่อยู่ใต้ดิน จะเริ่มกัดราก Strawberry ในช่วงปลายฤดูฝนทำให้ รากไม่สามารถดูดน้ำได้ทำให้ใบเหี่ยว และชะงักการเจริญเติบโต พบในแปลงปลูกที่เปิดใหม่ ใกล้ป่าหรือใกล้กองปุ๋ยหมัก
หนอนกระทู้ผัก?
หนอนกระทู้ผัก ใน Strawberry นั้น สามรถทำความเสียหายให้กับ Strawberry โดยหนอนจะกัดกินใบ เหลือไว้แต่โครงก้านใบทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้ Strawberry ชะงักการเจริญตเติบโต
ทาก?
ทาก ใน Strawberry มักพบเข้าทำลายผลโดยการกัดทำให้ผลผลิตเสียหาย มักพบเมื่อในแปลงมีสภาพชื้นแฉะ
5 วิธีล้างผักและผลไม้?
ผักและผลไม้เป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหารและสารพฤกษเคมีต่าง ๆ แม้ว่าผักและผลไม้จะเป็นอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลก็คือ สารเคมีกำจัดแมลงที่ตกค้างอยู่ในผักและผลไม้ สารพิษนั้นจะมีปริมาณมากหรือน้อยเพียงใดไม่สามารถคาดคะเนด้วยสายตาได้ ซึ่งการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดโทษและโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น การล้างให้ปลอดภัยจากการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงจำเป็น
วิธีที่ 1 การใช้ผงฟู
ใช้ผงฟู (baking soda) ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำอุณหภูมิปกติ 1 กะละมัง หรือ ปริมาตร 20 ลิตร แช่ผักและผลไม้ทิ้งไว้ เป็นระยะเวลา 15 นาที ล้างผักและผลไม้ออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ 80 – 95%
วิธีที่ 2 การใช้น้ำไหลผ่าน
เด็ดผักออกเป็นใบ ๆ ล้างด้วยน้ำสะอาดไหลผ่านอย่างต่อเนื่อง และใช้มือถูเบา ๆ วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ 54 – 63%
วิธีที่ 3 การใช้ด่างทับทิม
ใช้ด่างทับทิมปริมาณ 20 – 30 เกล็ด ละลายในน้ำอุณหภูมิปกติ ปริมาตร 4 ลิตร แช่ผักและผลไม้ทิ้งไว้ เป็นระยะเวลา 10 นาที ล้างผักและผลไม้ออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ 35 – 45%
วิธีที่ 4 การใช้น้ำส้มสายชู
ใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำอุณหภูมิปกติ ปริมาตร 4 ลิตร แช่ผักและผลไม้ทิ้งไว้ เป็นระยะเวลา 10 นาที ล้างผักและผลไม้ออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ 29 – 38%
และ วิธีที่ 5 การใช้เกลือ
ใช้เกลือป่นปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำอุณหภูมิปกติ ปริมาตร 4 ลิตร แช่ผักและผลไม้ทิ้งไว้ เป็นระยะเวลา 10 นาที ล้างผักและผลไม้ออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างได้ 27 – 38%
“แน่นอนว่าการล้างผักและผลไม้อย่างถูกวิธีอาจจะเสียเวลาไปบ้าง แต่เพื่อสุขอนามัยที่ดี กินได้อย่างสบายใจ ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง