ข่าวที่น่าสนใจ
โฆษกรัฐบาล แจงความสำคัญ ดิจิทัลวอลเล็ต ประเมินจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ เป็นหลัก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสภาพเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ถึงแม้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะยังไม่ได้อยู่ขั้นวิกฤตในสายตาของหลาย ๆ คน แต่คาดการณ์ได้ว่า หากไทยยังไม่ดำเนินนโยบายใด ๆ ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่เพียงชะลอการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตที่แท้จริง
นาย ชัย กล่าวว่า อยากให้คิดถึงประชาชนที่รายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ ประชาชนเหล่านี้รู้ดีว่ากำลังประสบปัญหา วิกฤตทางเศรษฐกิจ และแม้ว่ารัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาเต็มรูปแบบ ในทุกด้าน แก้ไขปัญหาลดรายจ่ายในประเทศ ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน แก้หนี้ เพิ่มรายได้เกษตรกร ดึงราคาพืชผลทางการเกษตร หาโอกาส เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสการทำงานของประชาชน ผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศ อำนวยความสะดวกการค้า FTA การค้าชายแดน สนับสนุนการท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังชะลอตัว ขาดสภาพคล่อง
โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า วันนี้ คนรายได้น้อยกำลังจะพบกับวิกฤตซ้ำวิกฤต ตัวเลข GDP ของไทยยังไม่ฟื้นกลับไปถึงตัวเลขก่อนโควิด ซึ่งตัวเลขของนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยโตช้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยแล้ว 7.3% ในปี 1994-1996 (ตัดช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งออกไป) ปี 1999-2007 GDP โตเฉลี่ย 5.2% และปี 2010-2019 GDP โตเฉลี่ย 3.6%
โดยตั้งแต่ปี 2014-2019 ก่อนโควิด-19 GDP โตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.0% และการฟื้นตัวของไทยฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียน วันนี้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ประเมินตัวเลข GDP ทั้งปีโตแค่ 1.8% จึงยังไม่ฟื้นมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่ง GDP อยู่ที่ 2.2% ซึ่งแปลได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว
ดังนั้น รัฐบาลเชื่อว่ามาตรการนี้ ยังจำเป็น การอัดฉีดเงินเข้าระบบจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้คนรายได้น้อยมีเงินจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเงินทั้งระบบ แก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ได้ว่ากำลังจะเกิดขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง