ผู้โดยสารชาวเยอรมัน "ไอเป็นเลือดจำนวนมาก" ทะลักออกจากปากและจมูก เสียชีวิตบนเที่ยวบิน LH773 กัปตันตัดสินใจนำเครื่องบินวกกลับกรุงเทพฯ
ข่าวที่น่าสนใจ
เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันบนเที่ยวบิน LH773 สายการบิน ลุฟต์ฮันซา ของเยอรมนี จาก กรุงเทพฯ มุ่งหน้า นครมิวนิก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อผู้โดยสารชาวเยอรมัน วัย 63 ปี จู่ ๆ “ไอเป็นเลือดจำนวนมาก” ทะลักออกจากปากและจมูก ก่อนหมดสติและเสียชีวิตกลางอากาศ นักบินตัดสินใจนำเครื่องบินโดยสารแอร์บัส A380 วกกลับสนามบินในกรุงเทพฯ โดยมีรายงานว่า ผู้โดยสารซึ่งไม่ได้รับการเปิดเผยชื่อ มีอาการป่วยอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ก่อนเครื่องเทคออฟ และอาการทรุดหนักกะทันหันบนเครื่องบิน
คำบอกเล่าเหตุการณ์บนเครื่องจาก 2 สามีภรรยา ที่นั่งอยู่แถวหลังถัดจากผู้ตาย บอกกับสื่อสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ชายคนดังกล่าวเสียเลือดหลายลิตร เลือดกระเด็นเลอะที่นั่งและผนังห้องผู้โดยสารเต็มไปหมด เป็นเหตุการณ์ที่สยดสยองมาก ทุกคนพากันกรีดร้อง เมื่อลูกเรือรุดมาถึง ก็พยายามช่วยทำ CPR ราวครึ่ง ชม. แต่ชัดเจนว่าเขาเสียชีวิตแล้ว จากนั้น ร่างถูกเคลื่อนย้ายไปบริเวณห้องครัว กัปตันประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตบนเครื่องบิน ต้องวกกลับกรุงเทพฯ
Cr. World Forum ข่าวสารต่างประเทศ , Blick
Massive hemoptysis ?
เพจดัง Drama-addict โพสต์ถึงเหตุการณ์ “ไอเป็นเลือดจำนวนมาก” ดังกล่าว ระบุว่า น่ากลัวมาก Massive hemoptysis ไอเป็นเลือดจำนวนมากจนเสียชีวิต สาเหตุส่วนมากมักเกิดจากความผิดปรกติในปอด เช่น อาจจะติดเชื้อ หรือมะเร็ง แล้วตัวโรค ลามไปจนถึงจุดที่เป็นเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลออกมาในปอดในปริมาณมาก
hemoptysis เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้ทั้งในเวชปฏิบัติทั่วไปและเวชปฏิบัติฉุกเฉิน ความรุนแรงของภาวะนี้มากน้อยต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีเลือดออกไม่มาก แต่ในรายที่มีเลือดออกมากจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 75 – 80% ดังนั้น จึงจำเป็นที่แพทย์ควรจะรู้ถึงแนวทางการวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาได้เป็นอย่างดี
ซึ่งภาวะ Massive hemoptysis มีผู้ให้คำจำกัดความโดยใช้ปริมาณเลือดที่ออกต่าง ๆ กัน แต่ที่นิยมใช้คือ มีปริมาณเลือดที่ออกมากกว่า 200 มิลลิลิตร หรือ 1 แก้วน้ำ ต่อการไอหนึ่งครั้ง หรือเลือดออกมากกว่า 600 มิลลิลิตร หรือ 2 แก้วครึ่ง ต่อวัน ภาวะนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง จำเป็นที่จะต้องรีบให้การวินิจฉัยและรักษาทันที
ไอเป็นเลือดเกิดจากอะไร ?
ไอเป็นเลือดเกิดจากการที่ปอดหรือระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติไป เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของเลือด ปริมาณเลือด และสีของเลือด เช่น มีสีแดงสด หรือชมพู บางรายอาจมีเสมหะปนออกมาด้วย บางทีการไอเป็นเลือดอาจไม่ใช่สัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงเสมอไป เพราะหากรู้ตัวเร็ว ป้องกันไว โอกาสหายขาดก็มีมากขึ้น โดยหากไอเป็นเลือดแบบนี้ ควรไปพบแพทย์
- ปริมาณเลือดที่ออกมา มีมากกว่า 1 – 2 แล้ว
- ไอแล้วมีฟองหรือเสมหะปนออกมา
- ไอออกมาแล้วเป็นลิ่มเลือด
- เลือดที่ไอออกมามีสีคล้ำ หรือมีเศษอาหารปน
- ไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
เพราะ ไอเป็นเลือด อาจเสี่ยงเป็นโรค ดังนี้
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง เกิดจากการไอเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน หรือ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี โดยสาเหตุมาจาก ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรังจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน
- ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุทำให้มีน้ำในช่องปอด จะมีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะเป็นฟองปนเลือดออกมาเมื่อไอ
- เลือดออกในปอด มีการตกเลือดอย่างเฉียบพลันจากปอด ทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลม หรือถุงลม
- หลอดลมโป่งพอง ภาวะที่หลอดลมขยายตัวอย่างผิดปกติ และมีการผลิตเมือกมากในทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะไอเป็นเสมหะค่อนข้างมาก หากทางเดินหายใจอักเสบไอเป็นเลือด
- โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาการไอปนเลือด มีเสมหะ โดยเลือดจะออกมาปนกับเสมหะแต่ไม่ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกัน
- ฝีในปอด เกิดจากการอักเสบภายในเนื้อปอด โดยสาเหตุคือการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา โดยหากมีฝีในปอด ก็จะมีอาการไอปนเลือดได้
- โรคลิ่มเลือดอุดตันในปอด ภาวะที่มีการอุดกั้นของหลอดเลือดแดงในปอด ส่งผลให้หายใจลำบาก และมีอาการ เจ็บหน้าอก ในบางรายอาจไอเป็นเลือด
- มะเร็งปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ซึ่งเป็นภาวะที่ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด อาจทำให้ไอเป็นเลือด
- วัณโรค มีอาการไอเรื้อรังนานมากกว่า 3 สัปดาห์ มีเสมหะเป็นเลือด ไข้สูง
- ปอดบวม การติดเชื้อที่ส่งผลต่อปอดและอาจทำให้ไอเป็นเลือดได้เนื่องจากเนื้อเยื่อปอดเสียหาย
สรุปแล้ว การไอเป็นเลือด เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และเป็นอีกอาการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจจะเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ดังนั้น หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการเช่นนี้ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อวินิจฉัยหาที่มาของอาการและป้องกันไม่ให้โรคร้ายหรืออาการไอเป็นเลือดร้ายแรงมากขึ้นจนเสียชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง