"คืนภาษี" ได้เต็มจำนวน ต้องวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษี อัปเดตปี 2567 มีอะไรบ้าง แล้วโครงการ Easy e-Receipt 2567 ซื้อแล้วคุ้มกว่า ช้อปดีมีคืน จริงไหม
ข่าวที่น่าสนใจ
การ ยื่นภาษี เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีเงินเดือนประจำตั้งแต่ 120,000 บาท/ปี หรือมีรายได้ประเภทอื่นตั้งแต่ 60,000 บาท/ปี โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุแต่อย่างใด ส่วนจะต้องเสียภาษีเท่าไรนั้นจะขึ้นอยู่กับฐานของเงินได้สุทธิในแต่ละปี ซึ่งทุกคนสามารถวางแผนเพื่อ ลดหย่อนภาษี ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้สามารถประหยัดภาษีลงไปได้ หรืออาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลย หากเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วเหลือไม่เกิน 150,000 บาท/ปี
ด้วยเหตุนี้เอง การวางแผนเพื่อ ลดหย่อนภาษี จึงควรทำตั้งแต่เริ่มปีนั้น เช่น ยื่นภาษี ปี 2567 ต้องเริ่มวางแผน ลดหย่อนภาษี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เพราะจะช่วยให้สามารถคำนวณสิทธิลดหย่อนแบบเต็มอัตราได้ และค่าลดหย่อนบางประเภทยังเป็นแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณได้ด้วย อยากขอ “คืนภาษี” ก็มาอัปเดตเลยว่า ค่าลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง ไปดูกันได้เลย
ค่าลดหย่อนส่วนตัว
- หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที
ค่าลดหย่อนคู่สมรส
- หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ซึ่งคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ ต้องพิจารณาว่า ต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน
ค่าลดหย่อนบุตร
- บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21 – 25 ปี ที่กำลังศึกษากำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
- บุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
- บุตรที่เกิดหลังปี 2561 คนแรก หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท คนที่ 2 เป็นต้นไป หักค่าลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
- ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง
- บุตรที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
- บุตรบุญธรรม ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน
- หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก
- บุตรบุญธรรมที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
ขอ “คืนภาษี” จาก ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
- หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์
ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
- หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สามารถหักลดหย่อนได้ทั้งของตนเองและของคู่สมรส รวมสูงสุด 4 คน
- บิดา มารดาที่นำมาใช้สิทธิ ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
- ในกรณีครอบครัวนั้นมีบุตรหลายคน พี่น้องจะสามารถนำบิดา มารดา ไปใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีซ้ำได้
- บุตรบุญธรรม ไม่สามารถนำบิดา มารดา ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้
ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
- หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะของผู้มีรายได้
- ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ส่วน และไม่จำกัดจำนวนคน เช่น กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการ ก็จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมแล้วสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 90,000 บาท หรือกรณีเป็นคู่สมรสจะหักได้ถึง 120,000 บาท เป็นต้น
- ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ได้เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน
ลดหย่อนภาษีจากเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
- หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท จำนวนสูงสุดจะคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น
ลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์ประกันชีวิต
- ลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
- หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม และสูงสูด 10,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ
- หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
- หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น อย่างเช่น ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีแบบบำนาญจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ต้องมีเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และต้องกำหนดช่วงอายุของการจ่ายเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55 – 85 ปีขึ้นไป
ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
- สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
- ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
- สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ หากสนใจที่จะลงทุนใน กอช. จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ
- ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15 – 60 ปี
- ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1)
- ไม่ได้เป็นข้าราชการ และสมาชิก กบข., ไม่ได้เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และไม่ได้เป็นพนักงานประจำ เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้มีนายจ้างนั่นเอง
การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
- เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 5 ปี คือ ปี 2563 – 2567
เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
- หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562
ลดหย่อนด้วยเงินบริจาคทั่วไป
- เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ
- สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน สถานพยาบาลของรัฐ การบริจาคผ่าน e-Donation ผ่านสภากาชาด, กองทุนยุติธรรม, หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขม, กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก, การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ให้กับสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา, โครงการฝึกอบรมอาชีพ สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก และเงินบริจาคให้คนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ
ลดหย่อนด้วยเงินบริจาคแก่พรรคการเมือง
- นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ลดหย่อนจากโครงการ Easy e-Receipt 2567
- เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt 2567 จะต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 เท่านั้น โดยนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นราคาที่รวม VAT แล้ว ใช้สิทธิในการลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการลดหย่อนภาษีนี้ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น แน่นอนว่าบุคคลธรรมดาที่เป็นมนุษย์เงินเดือนและคนทำอาชีพฟรีแลนซ์สามารถใช้สิทธินี้ได้
รายได้ในแต่ละฐานภาษี ลดหย่อนได้กันเท่าไหร่บ้าง
- เงินได้สุทธิต่อปี น้อยกว่า 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ได้สิทธิคืนภาษี)
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001 – 300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 2,500 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 5,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001 – 750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 12,500 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 15,000 บาท)
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% (มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 17,500 บาท)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง