วันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง เข้ายื่นสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คดีพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ฉบับเต็ม ที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง รวมทั้งยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการรับเงินบริจาคของพรรคภูมิใจไทย จากห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีการถือหุ้น โดยไม่ชอบของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เนื่องจากเห็นว่าอาจเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เข้าข่ายยุบพรรคภูมิใจไทย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (3)
นายธีรยุทธ กล่าวว่า การยื่นสำเนาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มให้กับ กกต. เพื่อต้องการให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกลโดยเร็ว ตามกรอบระเบียบของ กกต. ที่ตนได้ศึกษา พบว่ามีการกำหนดระยะเวลาแต่ละขั้นตอนไว้ชัดเจน รวมแล้วไม่น่าจะเกิน 90 วัน นับแต่วันที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน ก็สามารถมีคำวินิจฉัยยื่นต่อศาลได้ และเห็นว่า กกต.ไม่จำเป็นที่จะต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงอีก เพราะทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ตลอดจนฝ่ายความมั่นคง ได้ชี้แจงข้อมูลให้กับศาลรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งในคำวินิจฉัยศาลยกเหตุการณ์ที่สมาชิกพรรคก้าวไกลปรากฏตัวทำกิจกรรมร่วมกับ กลุ่มเยาวชน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ในกระบวนการพิจารณาของศาลได้รับข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ตนได้อ่าน แต่ไม่สามารถทำการคัดถ่ายสำเนาออกมาได้ เพราะเป็นความลับชั้นความมั่นคงของประเทศ หากหลุดออกมาอาจจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองไม่สุจริต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวพบว่ามีเหตุการณ์ความเชื่อมโยงที่มากกว่าที่ศาลอ่าน และเผยแพร่ผ่านสาธารณะ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า กกต.ในฐานะเป็นหน่วยงานตรวจสอบ สามารถไปขอข้อมูลหลักฐานเหล่านี้จากทางศาลได้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบอีก
นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า ตนยังคงติดตามความเคลื่อนไหว ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงที่จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าจะให้ผู้ที่เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า มาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว ว่าเป็นทำลายและการล้มล้างการปกครอง ดังนั้นหากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ คนที่กระทำความผิดในคดีมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ก็จะดำเนินการตามช่องทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ติดตามการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการ เพื่อที่จะดูว่าใครมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร โดยเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจเทียบ