วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านหัวสำโรง โรงเรียนวัดหัวสำโรง หมู่ที่ 2 ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม ครั้งที่ 21 ประจำปี 2567 โดยมี นายชูชาติ พิพัฒน์ศรัทธา นายอำเภอแปลงยาว กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางพัทธานันท์ ยังตรง นายกเหล่ากชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดฉะเชิงเทรา นายประสิทธิ์ อินทโชติ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา นางรัดใจ สิริรัตตนนท์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และประชาชนชาวอำเภอแปลงยาว ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่น่าสนใจ
ชุมชนหัวสำโรง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเองและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามเป็นงานบุญกลางเดือน 3 ของชาวพุทธศาสนิกชนตำบลหัวสำโรงและใกล้เคียง จะเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดเขาสุวรรณคีรี ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม ซึ่งเป็นเขตติดต่อกัน การเดินทางในสมัยก่อนนั้น ต้องเดินด้วยเท้าผ่านป่าเขาเต็มไปด้วยความยากลำบาก ประชาชนจึงนิยมเผาข้าวหลาม นำไปเป็นเสบียงระหว่างทางและนำไปถวายพระสงฆ์ด้วย โดยจะเผาข้าวหลามในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แล้วรุ่งเช้าจึงเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดเขาสุวรรณคีรี
เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเป็นวิถีของชุมชนให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป
ชาวอำเภอแปลงยาวจึงได้ร่วมกันจัดงานสืบสานประเพณีขึ้นเขา เผาข้าวหลาม ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 21 ระหว่าง วันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2567 ในงานวันนี้ มีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเผาข้าวหลามเตาเผายาวที่สุดในโลก การประกวดสุดยอดข้าวหลาม การแข่งขันกินข้าวหลาม การจัดนิทรรศการวิถีชาวนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น นิทรรศการดาราศาสตร์จากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรตินิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน การแสดงของนักเรียน และการจำหน่ายสินค้า OTOP ของอำเภอแปลงยาว
โดยในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.30 น. อำเภอแปลงยาวจะจัดขบวนแห่ผ้าป่าสามัคคีไปทอดถวาย และนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ณ วัดเขาสุวรรณคีรี เขตตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม โดยขบวนแห่ประกอบด้วยขบวนรถตกแต่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ขบวนรถจักรยานเสือภูเขา ขบวนรถมอเตอร์ไชค์โบราณ มอเตอร์ไชค์ชอปเปอร์ ตามด้วยขบวนของส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนที่มาร่วมงาน ได้ตระหนักในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป
…..สราวุฒิ บุญสร้าง ผู้สื่อข่าวภูมิภาคฉะเชิงเทรา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-