พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงกระแสข่าวพิจารณายกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉิน โดยระบุว่า ทุกอย่างเป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งนโยบายของนายกรัฐมนตรีและศบค. ให้มีการเตรียมการไว้อยู่แล้ว ซึ่งทราบดีว่าสังคมไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาเราอยู่กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทบจะไม่รู้สึกด้วยซ้ำ เพราะใช้เฉพาะมาตราการควบคุมโรคติดต่อเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมีวันสิ้นสุด เป็นการเตรียมการไว้เท่านั้น ส่วนจะให้สิ้นสุดเมื่อใดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และศบค.
ทั้งนี้พลเอกณัฐพล ยอมรับว่ามีกฎหมายอื่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพยายามปรับปรุงและพัฒนาพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งหากกฎหมายนี้เสร็จสิ้นก็พร้อมที่จะมาแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ และพร้อมที่จะปรับไปใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข
ส่วนจะไม่มีการต่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนก.ย.นี้หรือไม่ พลเอกณัฐพล ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากสถานการณ์ยังทรงอยู่ในลักษณะนี้ เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนดีพอสมควร และประชาชนเองก็มีความเข้าใจ แม้จะมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรการแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อหรือสถานการณ์เป็นตัวพิจารณา พร้อมย้ำว่าทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ศบค. และรัฐบาล
ทั้งนี้พลเอกณัฐพล ระบุว่า หากไม่มีการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค. ก็ต้องจบภารกิจไป แต่ไม่ใช่จบหายไปจากวงจร อาจแปรสภาพเป็นระบบอื่นที่มีกฎหมายใหม่รองรับได้ เพราะฉะนั้นกฏหมายใหม่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีเรารับทราบแล้วว่าอะไรคือปัญหา เพราะฉะนั้นกฏหมายทุกฉบับทางสภาและรัฐบาลต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไรและกฎหมายเองต้องรองรับการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้ ขอประชาชนอย่าเป็นห่วง ว่าหากไม่มี ศบค. แล้วจะสามารถรับมือได้ พร้อมกับย้ำว่ากฎหมายใหม่สามารถรับมือได้อย่างแน่นอน
พลเอกณัฐพล ยังระบุอีกว่า ขณะนี้กฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยหากระงับการบังคับใช้พ.ร.ก.ในช่วงนี้กฎหมายเก่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่กฎหมายใหม่นั้นสามารถรองรับสถานการณ์ได้ ด้วยประสบการณ์ในห้วงเวลาที่ผ่านมาตนคิดว่าเพียงพอ และบางทีดีกว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยซ้ำ เนื่องจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีแต่ความเข้ม และเราใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นภัยอะไรก็ตาม แต่ไม่ตอบโจทย์ในทุกกรณี แต่กฎหมายใหม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกกรณีเนื่องจากได้รับการเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ที่ทราบเรื่องดีที่สุดว่าอะไรคือปัญหาและอะไรที่ต้องแก้ไขปัญหา แต่พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไข จะตอบโจทย์ทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงสิ้นเดือนนี้แล้วกฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ยังเร่งรัดอยู่ เพราะ ฉะนั้นทันทีที่พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขแล้วเสร็จ ก็สามารถบังคับใช้ได้ทันที เหลือเพียงแค่ศบค.นั้นแปรสภาพ ส่วนจะแปรสภาพอย่างไรก็คงแล้วแต่กระทรวงสาธารณสุขและทีมงานของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าจะใช้รูปแบบศบค.ปัจจุบันไปประยุกต์ใช้ หรือจะใช้แบบอื่นเลย
ส่วนการประเมินการออกมาตรการจะมีการคลายล็อคในการประชุมครั้งต่อไปหรือไม่นั้น พลเอกณัฐพลระบุว่า ขณะนี้ขอให้รกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอมาก่อน เนื่องจาก ต้องฟังนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน ที่จะต้องมาหารือร่วมกับกระทรวงอื่น พร้อมย้ำว่าต้องฟังข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก
ขณะที่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็มีการทบทวนการทำงาน มีการประชุมแบบวันเว้นวัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ทราบว่า การติดเชื้อ 900 คน ยอมรับว่าเป็นจำนวนที่มาก แม้ว่าจะมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว แต่ในแง่ของกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่น่าหนักใจ เนื่องจากปัจจุบันจะต้องมีการปรับใช้จาก Pandemic หรือการระบาดใหญ่ เป็น Endemic หรือ การระบาดเฉพาะถิ่น ซึ่งหลายประเทศก็ปรับตามในสภาพนั้น เพราะฉะนั้นในอนาคตตัวเลขผู้ติดเชื้อ จะไม่ใช่เรื่องความเร่งด่วนสูงสุด เพียงแต่ว่าขณะนี้ยังไม่มีการสรุปอย่างเป็นทางการ แต่ยืนยันว่าพิจารณามาตรการจะต้องพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตและขีดความสามารถของจำนวนเตียงที่รองรับ และดูลักษณะของการแพทยระบาด ว่าเป็นอยู่บ้างหรือเฉพาะจุด หากเป็นเฉพาะจุดก็ไม่ใช่ปัญหา ซึ่งจากการรายงานในปัจจุบันขีดความสามารถยังรองรับได้อยู่
ทั้งนี้ในช่วงท้ายพลเอกณัฐพลระบุว่า เลขาสมช. คนใหม่ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดการด้านเอกสาร ระหว่าง สมช. และ กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีขั้นตอนมากกว่าทั่วไป เนื่องจากเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ เพราะมีเรื่องของขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ