ผอ.รร.เมืองกาญจน์หนุนศธ.ทำแอปฯ “จับคู่ครูคืนถิ่น” จ้างภารโรงทำหน้าที่แทนครูเวร

กดติดตาม TOP NEWS

ผอ.รร.เมืองกาญจน์หนุนศธ.ทำแอปฯ "จับคู่ครูคืนถิ่น" จ้างภารโรงทำหน้าที่แทนครูเวร

ภายหลัง พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดให้ใช้ระบบ “จับคู่ครูคืนถิ่น” หรือ TMS ตามนโยบาย”เรียนดี มีความสุข”

 

จับคู่ครูคืนถิ่น

 

 

 

 

ล่าสุดอาจารย์ ประเทือง แผนสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตลุงเหนือ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเคยบรรจุสอนอยู่ในจังหวัดไกลบ้าน และได้ทำเรื่องย้ายกลับมาอยู่ที่ใกล้บ้านเกิดแล้ว เปิดเผยว่า สมัยก่อนต้องเดินทางลำบากมาก ต้องขึ้นรถไฟ และต่อด้วยรถสกายแลปเพื่อเข้าโรงเรียน จนสามารถทำเรื่องย้ายสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันก็มีเวลา ดูแลพัฒนาโรงเรียนได้มากขึ้น เนื่องจากอยู่ห่างจากบ้านเพียงแค่ 25 กิโลเมตรเท่านั้น วันเสาร์อาทิตย์ก็มีเวลามาดูแลโรงเรียนเต็มที่ เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษามาก

 

“เราก็มีเวลามากมายที่จะพัฒนาโรงเรียน ดีกว่าเสียเวลาที่จะต้องไปขึ้นรถ ลงเรือ กว่าจะไปถึง ต้องเดินทางไกล แต่ปัจจุบันถ้าได้ทำงานใกล้บ้าน จะได้มีเวลาทำงานเต็มที่ เวลาเสาร์-อาทิตย์ก็ได้เข้าโรงเรียน มาช่วยรดน้ำต้นไม้ ดูแลโรงเรียนถือว่าเกิดประโยชน์อย่างสูงเลยทีเดียว”

 

ส่วนการที่กระทรวงศึกษาธิการ ทำระบบ”จับคู่ครูคืนถิ่น” หรือ TMS ขึ้นมา และช่วยให้ครูสามารถจับคู่ย้ายกันได้ โดยไม่ทำเรื่องยุ่งยากเหมือนสมัยก่อนนั้น อาจารย์ ประเทือง มองว่า เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ช่วยให้ครูที่ไม่รู้จักกันได้เจอกัน และตกลงในการขอโยกย้าย ซึ่งได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และโรงเรียนก็ไม่เสียประโยชน์ด้วย
“ต้องยอมรับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คุณครูได้จับคู่กัน โดยที่ไม่รู้จักกันเลยก็ได้ ท้องถิ่นไกลกัน ได้จับคู่กัน โดยที่โรงเรียนทั้ง 2 แห่งได้ประโยชน์ ผมก็เชื่อว่าโครงการนี้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการศึกษา นอกจากจะมีการเขียนย้ายแบบปกติแล้ว ก็จะมีของท่านรัฐมนตรีซึ่งออกมา ผมเชื่อว่า ครูก็จะมีการคืนถิ่นได้ดียิ่งขึ้น”

 

 

 

 

ทั้งนี้จากข้อมูล ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแต่ละสังกัด ระหว่างวันที่ 16 – 31 มกราคม 2567 โดยเป็นครูที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. มากถึง 2,855 ราย กำลังรอยืนยันการจับคู่อยู่ 1,319 ราย และมีการจับคู่แล้ว รอเพียงการตรวจสอบคุณสมบัติ และรออนุมัติจากอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. อีก 414 ราย

 

 

ส่วนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ลงทะเบียนไว้ 7 ราย รอยืนยันการจับคู่ 3 ราย โดยในวันพรุ่งนี้ ( 29 กพ. 67 ) จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะมีกี่คู่ที่ได้รับการอนุมัติ และเริ่มปฏิบัติหน้าที่บนแผ่นดินเกิด พร้อมกันวันที่ 16 พฤษภาคมนี้

 

 

 

 

 

ในขณะที่อาจารย์ ประเทือง ได้ให้ความเห็นในเรื่องคำสั่งให้ครูไม่ต้องเข้าเวร หลังเกิดเหตุความรุนแรงกับครูถูกทำร้ายในพื้นที่จังหวัดเชียงรายว่า ทุกโรงเรียนจะยกมือสาธุ เพราะรู้ดีว่านักการภารโรงไม่ได้มีบุญคุณแค่เฝ้ายาม แต่ยังช่วยเหลืองานได้อีกหลายอย่าง แต่พอยุบไป ครูทุกคนก็ต้องปรับตัว พร้อมกับฝากถึง รมว.ศธ.ว่าขออัตรากำลังภารโรงกลับคืนมา ส่วนการจ้างก็ควรเป็นคนในท้องถิ่น เพราะจะรู้จักพื้น และบุคคลรอบๆโรงเรียนเป็นอย่างดี และยังช่วยทำงานที่ใช้กำลังได้เป็นอย่างดี เนื่องจากครูเป็นผู้หญิงจำนวนมาก ซึ่งทุกชีวิตสำคัญเท่ากันไม่ว่าโรงเรียนเล็กหรือโรงเรียนใหญ่

 

 

 

 

 

“เป็นเรื่องที่ทุกโรงเรียนจะยกมือสาธุ เพราะเชื่อว่านักการภารโรงไม่ได้มีบุญคุณแค่เฝ้ายาม ช่วยเหลือทุกอย่าง ผมเองก็เคยมีนักการภารโรงมาช่วยเหลือทุกอย่างแม้เกษียณไปแล้ว แม้ไม่มีภารโรง เป็นตามระบบราชการ เราก็ต้องปรับตัว คุณครูก็ต้องช่วยเหลือกันเอง ปิดหน้าต่างกันเอง ปิดห้องพักครูกันเอง พอไม่มีนโยบายครูเวร ผมก็ใช้กล้องวงจรปิด เพื่อรายงานเข้ากลุ่มโรงเรียน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่พวกเราจะช่วยกัน รักษาสมบัติของทางราชการ”

 

 

 

 

“ขอฝากถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าขอเป็นอัตรากำลังนักการภารโรง จ้างด้วยเงิน 9,000 บาทก็ได้ ถ้าโรงเรียนสรรหามา ก็เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้ เป็นคนในชุมชน รู้จักเด็กทุกคน ได้ช่วยกันเป็นกำลัง และยังมีการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย เพราะทุกวันนี้มีแต่ครูที่เป็นสตรีจำนวนมาก เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกันรักษาความปลอดภัยให้คุณครู และงานต่าง ๆ ที่ต้องใช้พละกำลัง

 

ครูสตรีอาจจะทำได้ลำบาก แต่หากมีนักการภารโรงก็จะช่วยได้เยอะ แต่โรงเรียนขนาดเล็กอาจจะไม่มีกำลังเพียงพอในการจ้าง ดังนั้นทุกโรงเรียนสำคัญเท่ากัน ครูทุกชีวิตสำคัญเท่ากัน นักเรียนก็เช่นกัน ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนเล็ก หรือโรงเรียนใหญ่ก็ตาม อยากฝากท่านรัฐมนตรีพิจารณา “

 

 

 

 

 

ขณะที่นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าจากการลงพื้นและได้รับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นั้น ทำให้ทราบถึงปัญหาของโรงเรียนว่าการที่โรงเรียนไม่มีนักการภารโรง ส่งผลทำให้ครูมีภาระเพิ่มขึ้นคือ นอกจากจะทำหน้าที่ในการสอนนักเรียนแล้ว ยังต้องทำงานที่ไม่ใช่การสอน เช่น ต้องทำหน้าที่ในการซ่อมบำรุง ทำความสะอาดอาคารสถานที่ ดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนและอีกหลาย ๆ หน้าที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นในปัญหาดังกล่าว จึงอยากให้ครูได้มีเวลาในการเตรียมการสอน รวมทั้งดูแลเด็กนักเรียน และพัฒนาตัวเองมากขึ้น

 

 

 

 

โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งเรื่องของบประมาณปี 2567 เข้า ครม.ในการจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีความต้องการนักการภารโรงจำนวน 14,210 อัตรา อัตราละ 9,000 บาท ต่อเดือน รวมเป็นเงิน 639 ล้านบาท สามารถเริ่มจ้างได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2567 ส่วนในปีงบประมาณปี 2568 ยังจะมีการดำเนินการจ้างเพิ่่มอีก รวมจำนวน 25,370 อัตรา เป็นเงินจำนวน 2,739 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถดำเนินจ้างได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 และจะของบประมาณในปีต่อ ๆ ไปอีก

 

 

 

 

โดยล่าสุดวันนี้ นายสุรศักดิ์ ยืนยันว่าเตรียมจะนำเรื่องของบประมาณในการจ้างภารโรงทั่วประเทศ เข้า ครม. ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้จัดจ้างภารโรง ทันวันที่ 1 พฤษภาคม นี้ ซึ่งก็ต้องติดตามกันว่า ครม.จะไฟเขียวนุมัติทันทีหรือไม่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น