"เขาคิชฌกูฏ" 2567 เปิดนมัสการพระบาทพลวง ถึงวันที่ 9 เมษายน นี้ ความลับ - ตำนานแห่งศรัทธา? แม่เล่าลางสังหรณ์ก่อนกระบะผู้แสวงบุญพลิกคว่ำลูกสาวเสียชีวิต
ข่าวที่น่าสนใจ
อุบัติเหตุรถกระบะบรรทุกผู้แสวงบุญ ลงจากนมัสการรอยพระบาทพลวง บนยอด “เขาคิชฌกูฏ” อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายและเสียชีวิต 1 ราย โดยแม่ของผู้เสียชีวิต เล่าทั้งน้ำตาว่า ลูกสาวของตนเองเป็นเสาหลักของครอบครัว เรียนจบคณะครุศาสตร์ แต่ไม่ได้เป็นครู ลูกสาวทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ส่งน้องเรียน และยังสัญญากับแม่ว่าจะซื้อบ้านซื้อสวนให้แม่ด้วย ซึ่งก่อนเกิดเหตุ แม่มีลางสังหรณ์ คือ ได้เปิดดูดวงจากโทรศัพท์มือถือ มีคำทำนายว่า จะเสียคนรักภายในครอบครัว แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นลูกสาว รู้สึกเสียใจมาก ไม่อยากให้มีวันนี้เลย
ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ เชื่อกันว่าการได้กราบสักการะรอยพระพุทธบาทนั้น เปรียบได้กับการเข้าเฝ้าองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ หลายคนจึงต้องการไปสักการะรอยพระพุทธบาทให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทพลวง “เขาคิชฌกูฏ” แห่งนี้
ตำนานรอยพระพุธบาท?
พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขา คิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะ ได้พบรอยพระพุทธบาท เมื่อเจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ ก็ได้ขึ้นไปพิสูจน์ ก็พบว่าเป็นความจริง รอยพระพุทธบาทนั้น ท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคนบนยอดเขาสูงสุดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาท มีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกกันว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกมหัศจรรย์เป็นอย่างมาก ไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉย ๆ
ที่มาเขาคิชฌกูฏ?
ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะมีชื่อเขาในกรุงราชคฤห์ ในประเทศอินเดียลูกหนึ่ง ชื่อว่าเขา คิชฌกูฏ ฟังแล้วคล้าย ๆ กับว่าได้ไปยังนครราชคฤห์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ครั้งปฐมโพธิกาลโน้น และการไปมาก็ไม่สู้ไกลนัก นึกไปว่าปีหนึ่งเรายังได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหนึ่งครั้ง
ในตำนานศาสนาพุทธ กล่าวไว้ว่า เขา คิชฌกูฏ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงอินเดียสมัยก่อนนั้น แปลว่า ภูเขาแร้งกระพือปีก มีคันธกุฎีอยู่บนยอดเขา และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต
และเป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณ ซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขา คิชฌกูฏ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหน ๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา
หินยักษ์ตั้งไม่ตกหล่น?
ความเชื่อที่ว่า หินลอยได้ อาจจะฟังดูเป็นเรื่องอภินิหารที่แต่งเติมเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหินลูกบาตร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องถือเป็นเรื่องน่าทึ่งมากทีเดียว ที่ก้อนหินขนาดใหญ่เช่นนี้สามารถทรงตัวอยู่บนชะง่อนผาได้โดยไม่ตกหล่น
แต่ความลับที่ว่าหินก้อนนี้ตั้งตระหง่านอยู่ได้อย่างไรนั้น มีคำอธิบายด้านธรณีวิทยา โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า หินลูกบาตร คือ หินเทิน หรือ หินทรงตัว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเปลือกโลกที่ทำให้พื้นผิวโลกบริเวณแกรนิตมวลไพศาลยกตัวเป็นพื้นที่สูง แล้วพื้นที่สูงนี้ได้รับการเกลี่ยระดับให้ราบลง อันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ทำให้ผิวโลกราบเรียบ หินส่วนนอกสุดผุพังและผุกร่อนไป แกรนิตมวลไพศาลจึงโผล่พ้นจากการปกปิด และถูกทำลายจากตัวกลางต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิซึ่งทำให้เนื้อหินแกรนิตแตกออกเป็นกาบ (Exfoliation) เหมือนกาบกะหล่ำปลี น้ำเป็นตัวกัดเซาะทำลายให้เนื้อหินส่วนที่มีรอยแตกหลุดออกจากกันง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อก้อนหินส่วนที่อยู่รอบข้างถูกนำพาออกไปจากแหล่งกำเนิด หินส่วนที่เหลือจึงมีลักษณะเสมือนเป็นหินที่ได้รับการโยกย้ายมาจากที่อื่นมาวางไว้ แต่แท้ที่จริงแล้ว หินก้อนนี้ก็คือส่วนหนึ่งของพื้นหินนั่นเอง นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าหินลูกบาตรขนาดใหญ่ตั้งอยู่อย่างมั่นคงผ่านกาลเวลามาได้อย่างไร
การเดินทางไปเขา คิชฌกูฏ?
- โดยรถยนต์ส่วนตัว ใช้ถนนสุขุมวิท เมื่อถึงสี่แยกเขาไร่ยาให้แยกซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3249 ระยะทาง 24 กิโลเมตร จะถึงอุทยานแห่งชาติเขา คิชฌกูฏ สามารถเดินทางได้โดยเริ่มจากตัวอำเภอเมืองจันทบุรีผ่านแยกเขาไร่ยา ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3249 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร โดยใช้ทางขึ้นเขาพระบาทพลวง (ทางขึ้นคนละจุดกับอุทยานฯ) เมื่อถึงวัดพระบาทพลวงต้องจอดรถส่วนตัวทิ้งไว้ (มีลานจอดรถไว้บริการ)
- รถโดยสาร จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถโดยสาร กรุงเทพฯ – จันทบุรี ลงรถที่ขนส่งจันทบุรี จากนั้นเหมารถสองแถวไปที่เขา คิชฌกูฎ ราคาแล้วแต่ตกลง หรือนั่งรถสองแถวสีฟ้าสายจันทบุรี – จันทเขลม ขึ้นรถได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ท่าแฉลบ
เมื่อมาถึงเขา คิชฌกูฏ การเดินเท้าขึ้นไป ซึ่งใช้เวลาในการเดิน 3 – 6 ชั่วโมง หรือใช้บริการ รถสองแถวบริการขึ้นเขาพระบาท ออกจากวัดพลวงไปสิ้นสุดที่บริเวณทางขึ้นยอดเขาพระบาท โดยรถที่ขึ้นยอดเขาแบ่งเป็น 2 ช่วง ค่าโดยสารช่วงละ 50 บาท/คน (รวมไป – กลับ 200 บาท) มีรถบริการตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จะถึงจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นไปรอยพระบาท
กำหนดการเปิดเขา คิชฌกูฏ 2567
- เปิดเขา คิชฌกูฏ เริ่ม 10 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2567
นักเดินทางสายบุญสามารถเดินทางร่วมสักการะได้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ถึง 9 เมษายน 2567 มีคิวรถรถขึ้นลงเขาตลอดทั้งวันทั้งคืน
ขอบคุณภาพ : เขาคิชฌกูฎ-พระบาทพลวง จันทบุรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง