"30 บาทรักษาทุกที่" ด้วย บัตรประชาชนใบเดียว หรือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เฟส 2 เพิ่ม 8 จังหวัด พร้อมให้บริการประชาชนแล้ววันนี้ 1 มี.ค. 2567
ข่าวที่น่าสนใจ
จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ “30 บาทรักษาทุกที่” ?
สิทธิตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า เป็นสิทธิที่คนไทยกว่า 47 ล้านคน ใช้เพื่อการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมา ยังพบความไม่สะดวกสบายจากการใช้บริการในหลายประเด็น เช่น หากจะใช้สิทธิข้ามเขต จะต้องขอใบส่งตัว ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปยังโรงพยาลประจำอำเภอ กดบัตรคิว รอคิว และรอออกใบส่งตัวกว่าครึ่งวัน หรือการใช้ สิทธิบัตรทอง สามารถใช้สิทธิได้เฉพาะในสถานพยาบาลของรัฐ เท่านั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และก้าวสู่สังคมดิจิทัล รัฐบาลจึงเกิดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อปิดช่องโหว่การให้บริการด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเริ่มนำร่อง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และ นราธิวาส ไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ เฟส 2 เพิ่ม 8 จังหวัด สามารถเริ่มให้บริการกับประชาชนได้ตั้งแต่วันนี้ (1 มี.ค. 67) ได้แก่
- เพชรบูรณ์
- นครสวรรค์
- สิงห์บุรี
- สระแก้ว
- หนองบัวลำภู
- นครราชสีมา
- อำนาจเจริญ
- พังงา
ทั้งนี้ สปสช. ได้ลงพื้นที่ใน 8 จังหวัด ในการขยายนโยบายเพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อมและเชิญชวนผู้ประกอบการสถานพยาบาลภาคเอกชนเข้าร่วมบริการโดยร่วมกับผู้แทนสภาวิชาชีพที่ร่วมให้บริการ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น
ขณะที่ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ปลายปีนี้คนไทยทั่วประเทศไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะสามารถใช้บริการ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ อย่างแน่นอน
“30 บาทรักษาทุกที่” ?
- จองคิวออนไลน์ ลดเวลารอหมอที่โรงพยาบาล : สามารถจองคิวหาหมอผ่านแอปหมอพร้อมได้เลย โดยไม่ต้องไปจับบัตรคิวที่โรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลตรงตามเวลาที่นัดหมาย ก็สามารถโชว์หน้าจอหมอพร้อม พร้อมกับบัตรประชาชน เข้ารับบริการได้ทันที่ แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องคิวจะชนกัน เพราะว่าคิวไหนหากมีคนจองแล้วก็จะไม่สามารถจองซ้ำได้
- เข้ารับบริการสถานบริการพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ทำฟัน กายภาพบำบัด ฟรี : ประชาชนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรม กายภาพบำบัด ณ คลินิกที่เข้าร่วมโครงการด้วย โดยหัวใจสำคัญของการใช้บริการคือ จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อนัดหมายเวลาและยื่นบัตรประชาชนใบเดียว เข้ารับบริการโดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาก่อน ถือเป็นสิทธิใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจากบัตรเดิม
- ไม่ต้องขอใบส่งตัว และสามารถขอเอกสารทางแพทย์ดิจิทัล ผ่านหมอพร้อมได้เลย : บัตรทองแบบใหม่ อัปสิทธิพิเศษให้ ผู้ป่วยที่ได้ยืนยันตัวตนเรียบร้อย มีข้อมูลสุขภาพทั้งหมด อยู่ในแอปหมอพร้อมแล้ว ไม่ต้องไปดำเนินการขอใบส่งตัวแบบเดิมอีก เพียงแต่มีหน้าที่นัดหมายวันไปพบแพทย์ หรือไปตามที่แพทย์นัด แล้วเสียบบัตรประชาชนในเครื่องอ่านบัตร ประวัติผู้ป่วยทั้งหมด วิธีการรักษา ยาที่ใช้ สามารถออนไลน์ได้ทันที หมอที่รับดูแลต่อ เปิดดูข้อมูลผ่านหน้าจอได้
- ตรวจเลือด ตรวจแลปในสถานบริการเอกชน ตามใบสั่งดิจิทัลของหมอ ไม่ต้องรอคิว โรงพยาบาลรัฐ : เมื่อหมอสั่งให้ผู้ป่วยตรวจแลป ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการที่สถานบริการเอกชนได้ โดยให้หมอสั่งตรวจแลปไปยังสถานที่ที่จะเข้ารับบริการ ข้อมูลทั้งหมดทางสถานบริการเอกชนสามารถมองเห็นผ่านจอได้ทันทีที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้วเสียบบัตรประชาชน แล้วสามารถรายงานผลการตรวจผ่านทางออนไลน์ ไปยังหมอเจ้าของไข้ โดยไม่ต้องถือเอกสารกลับไปกลับมา สำหรับผู้ป่วยก็ลดเวลารอที่โรงพยาบาลนาน ส่วนการฟังผลตรวจก็ขึ้นอยู่กับการนัดระหว่างหมอกับผู้ป่วย ซึ่งอาจให้บริการแพทย์ทางไกล คือ ใช้วิดีโอคอล ผ่านแอปหมอพร้อมไปยังผู้ป่วยได้เช่นเดียวกัน
- กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง : สถานชีวาภิบาล หรือการดูแลระยะสุดท้าย ซึ่งเดิมจะดูแลในโรงพยาบาล แต่พบว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ประสงค์อยากกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน การดูแลระยะท้ายจะต้องดูแลโดยมีหลักวิชาการ ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยจะบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานทางสังคม เช่น วัดในชุมชน ร่วมกับโรงพยาบาล โดยหากต้องการะพบแพทย์ก็สามารถใช้ระบบแพทย์ทางไกลได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
- รับยาที่บ้าน หรือร้านยาเอกชน ให้บริการเภสัชกรรมออนไลน์ : ถือว่าเป็นทางเลือกที่หลากหลายสำหรับประชาชน หลังจากที่เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว ผู้ป่วยสามารถรอรับยาที่โรงพยายาลได้ หรือสามารถแจ้งรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยผู้ป่วยแสดงหน้าจอหมอพร้อม แล้วยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ต่อเภสัชกร แล้วรับยาตามใบสั่งยาออนไลน์ที่ โรงพยาบาลสั่งจ่าย ซึ่งจะแสดงรายการยา ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของร้านยา
- พบแพทย์ทางไกล ไม่ต้องเดินทางไกล : ผู้ป่วยที่อาจจะต้องพบแพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ท่านนั้นอาจประจำอยู่โรงพยาบาลจังหวัด หรือต่างจังหวัด ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านของผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการแพทย์ทางไกล หรืออาจเดินทางไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอเข้าพบแพทย์ผ่านทางออนไลน์ และสามารถเลือกรับยาที่บ้าน ร้านยาใกล้บ้าน หรือ ผ่านไปรษณีย์ได้เช่นเดียวกัน
- การบันทึกประวัติสุขภาพออนไลน์ : หากข้อมูลชุดนี้แล้วเสร็จทั้งประเทศ ไม่ว่าเราจะเจ็บป่วยอยู่ที่ไหนของประเทศไทย ก็สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ ทั้งสถานพยาบาลของรัฐ – เอกชน (ที่เข้าร่วมโครงการ)
- การรักษาโรงมะเร็งครบวงจร : สิทธิที่เพิ่มเข้ามาจากสิทธิบัตรทองเดิม คือ การรักษามะเร็งครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป
เปิดขั้นตอนการดำเนินนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่”
- พัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ทั้งจาก รพ.รัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นอกสังกัด สธ. รพ.เอกชน รพ.สต. คลินิก ร้านยา
- พัฒนาระบบยืนยันตัวตน ทั้งการยืนยันตัวตนผู้รับบริการ เช่น ดิจิทัลไอดี ยืนยันตัวตนผู้ให้บริการ การตรวจสอบสิทธิ การยืนยันเข้ารับบริการ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนคนต่างด้าว
- พัฒนาระบบการทำงาน เช่น ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ สมุดสุขภาพประชาชน ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล การนัดหมายออนไลน์ การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เป็นต้น
- การพัฒนาระบบเชื่อมต่อประชาชน ทั้งการผ่าน LINE OA และ Application เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงประชาชนทั้งประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง