จีนซัดอังกฤษวิจารณ์กม.ความมั่นคงฉบับใหม่ฮ่องกง ชี้ให้ตื่นจากความคิดเจ้าอาณานิคม และหยุดแทรกแซงกิจการภายใน
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อังกฤษวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฮ่องกงเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ โดยระบุว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของเขตบริหารพิเศษนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก
นายเดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกง ทบทวนบทบัญญัติดังกล่าวอีกครั้ง โดยให้ประชาชนชาวฮ่องกง มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น พร้อมเสริมว่า ในฐานะผู้ลงนามร่วมในปฏิญญา อังกฤษมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการรักษาสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้น
อังกฤษ อดีตเจ้าอาณานิคมฮ่องกง อ้างถึงปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ที่ลงนามในปี 2540 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขส่งมอบฮ่องกงคืนจีนว่า เขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะไม่ใช่ระบบสังคมนิยมของจีน และระบบทุนนิยมแต่เดิมและวิถีชีวิตของฮ่องกง จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 50 ปี แต่จากเหตุการณ์ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ที่เขย่าฮ่องกงในปี 2562 เพื่อตอบสนองเรื่องนี้ จีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อลงโทษอาชญากรรมสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน การบ่อนทำลาย การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ โดยมีโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต
สำหรับการวิจารณ์ของอังกฤษในครั้งนี้ จีนได้ออกมาตอบโต้ทันที นางเหมา หนิงโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าววานนี้ว่า คำแถลงของอังกฤษ ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนและฮ่องกงอย่างหยาบคาย และเผยให้เห็นอีกครั้ง ถึงความคิดแบบเจ้าอาณานิคมที่ฝังลึกและเย่อหยิ่ง จีนต่อต้านสิ่งนี้อย่างแข็งขัน
นางเหมาปฏิเสธข้อกังวลดังกล่าวว่าไม่มีมูล พร้อมชี้เหตุผลว่า ปฏิญญาร่วมไม่ได้ให้สิทธิอังกฤษแทรกแซงกิจการฮ่องกง และแย้งว่า หนึ่งในหลักการของมาตรา 23 คือการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ของผู้อยู่อาศัยในฮ่องกงภายใต้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง และอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายชี้ว่า เส้นแบ่งระหว่างการทำผิดทางอาญาที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และความผิดทางแพ่งทั่วไปในกฎหมายฮ่องกงถูกกำหนดอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับกฎหมายความมั่นคงของอังกฤษ ที่บังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ที่มีการกำหนดไว้อย่างคลุมเครือ ให้อำนาจในวงกว้างแก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกละเมิด
พร้อมทิ้งท้ายว่า อังกฤษควรปรับทัศนคติของตนเอง และมองความเป็นจริงอย่างถูกต้องว่า ฮ่องกงถูกส่งคืนให้กับจีนเมื่อนานมาแล้ว หยุดแทรกแซงกิจการของฮ่องกง และไตร่ตรองตัวเองไปพร้อมๆ กัน รวมถึงละเว้นจากการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน