บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพี ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนกลุ่มธุรกิจอาหาร ร่วม “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG Model” ประจำปี 2567 เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ชูคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จักราช จ.นครราชสีมา เป็นต้นแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารสีเขียวสู่ผู้บริโภค หนุนซีพีเอฟก้าวสู่การเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net-Zero ในปี 2050
นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ อบก. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบของการพัฒนาการผลิตแบบคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจ BCG และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Thailand’s Long-Term Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ของไทย ในปี 2050 และเป้าหมาย Net-Zero GHG Emission ในปี 2065 ทั้งนี้ องค์กรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 6 องค์กรจะได้รับการสนับสนุนการพัฒนาแผนการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ โดยนำแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์แบบเดิม และผลิตภัณฑ์แบบใหม่ เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางการค้าขององค์กรภาคธุรกิจไทย และการเพิ่มมูลค่าในโครงสร้างทางเศรษฐกิจระดับมหภาค รวมถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิตของภาคประชาสังคม
รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า โครงการฯ นี้ มีเป้าหมายส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทยตระหนักและช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจที่ประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และการสร้างงานสีเขียว สำหรับโครงการนี้ ได้คัดเลือก 6 จาก 30 บริษัทเข้าร่วมโครงการ โดยพิจารณาจากความมุ่งมั่นและการมีเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างชัดเจน ในส่วนของซีพีเอฟ โดยคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จักราช มีการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารที่โดดเด่น โดยเฉพาะการนำของเสียไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ซีพีเอฟ เป็นองค์กรเดียวในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ได้รับคัดเลือกจาก อบก. และ VGREEN มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำฯ ซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารธุรกิจโดยประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับแนวทางของซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ และการแปรรูปอาหาร เพื่อปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดจนลดของเสียจากการดำเนินธุรกิจ และการเปลี่ยนของเสียให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
“ซีพีเอฟได้นำแนวทางเศรษฐกิจ BCG เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง ปัจจุบันคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของ ซีพีเอฟ มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินงานของฟาร์มร้อยละ 80-90 ของการใช้พลังงานทั้งหมด การเข้าร่วมโครงการฯ จะนำความรู้จากผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ BCG เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรและลดการสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิต รวมถึงการนำของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบมาใช้ประโยชน์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมอาหารที่มีการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยบนเวทีโลก” นายสมคิดกล่าว
ฟาร์มและโรงคัดไข่ไก่ทุกแห่งของซีพีเอฟนำระบบควบคุมคุณภาพไข่ไก่ให้มีความสด สะอาด ปลอดจากยาปฏิชีวนะ นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาช่วยประหยัดพลังงาน เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานใช้ในฟาร์ม กากของเหลือจากระบบไบโอแก๊สใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่สดของซีพีเอฟ เป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นกว่า 532,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และ ผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ Cage Free แบรนด์ยูฟาร์ม อีก 2 รายการได้ขึ้นทะเบียน “ฉลากคาร์บอนนิวทรัล” กับ อบก. ถือเป็นผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ปลอดคาร์บอนของไทย และภูมิภาคเอเชีย
สำหรับคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จักราช ซีพีเอฟได้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในฟาร์ม จากการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน ได้รับรางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน และยังเป็นตัวแทนระดับภูมิภาครับรางวัล ASEAN Energy Awards 2022 จากศูนย์พลังงานอาเซียน และอยู่ระหว่างการศึกษาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มเติม สู่การเป็นฟาร์ม RE100 ภายในปี 2567.