วธ. เปิดตัว “แอนโทเนีย” นางสงกรานต์ ปี 67

กดติดตาม TOP NEWS

วธ.แถลงเปิดตัวแอนโทเนีย “นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๗” และเพลงสงกรานต์ ภาษาต่างประเทศ ให้ชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วม พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศ

วธ. เปิดตัว “แอนโทเนีย” นางสงกรานต์ ปี 67Top News รายงาน

วันนี้ (4 มีนาคม 2567) ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าว เปิดตัวนางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ประจำปี 2567 และเพลงสงกรานต์ ฉบับภาษาต่างประเทศ ในโอกาสที่ องค์การยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ พร้อม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ เจ้าของและผู้จัดการวงดนตรีสุนทราภรณ์ รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพหลยุทธ กนิษฐบุตร รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ นางนฤมล เลี้ยงรักษา รองประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว

ภายหลังช่วงแถลงข่าวประธานได้มอบจักรและตรีศูล สัญลักษณ์ของนางสงกรานต์ ประจำปี 2567 และมอบเกียรติบัตร ให้แก่นางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี 2567” ต่อด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม ชุด “ตำนานนางสงกรานต์” โดยแอนโทเนีย โพซิ้ว ทั้งนี้ ชุดที่สวมใส่ ประกอบด้วย ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลัง มยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ ต่อด้วยการแสดงบทเพลง “เริงสงกรานต์” ฉบับภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ โดยคณะนักร้องคลื่นลูกใหม่ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ จากนั้น เป็นการแสดงบทเพลง “สงกรานต์” (เพลงแต่งใหม่โดย รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ) ฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ บรรเลงโดยวงดนตรีเฉลิมราชย์ และการแสดงขับร้องบทเพลงเริงสงกรานต์ ฉบับภาษาจีน โดย ส.ว.ประเสิรฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ร่วมกับคณะเม้ง ป.ปลา นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม สรงน้ำพระพุทธรูป การสาธิตการจัดประเพณีสงกรานต์ จากสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดภูเก็ต อีกด้วย

นางสงกรานต์

ด้าน นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัลและด้านการท่องเที่ยวรองรับ Thailand Creative Content Agency (THACCA) และในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมได้กำหนดนโยบายภายใต้ซอฟต์พาวเวอร์ “สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนและชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year Festival)” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2567 นี้รัฐบาล โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนดจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ในช่วงเดือนเมษายน มีการจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และส่วนภูมิภาค จึงขอเชิญชวนคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลกร่วมงานดังกล่าว เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป

นอกจากนี้ ความพิเศษของประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดทำบทเพลงสงกรานต์ ฉบับภาษาต่างประเทศ จำนวน 4 ภาษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาฝรั่งเศส เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้รับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศเพื่อยกระดับและพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ให้แก่ประเทศไทย ขณะที่ นางสาวแอนโทเนีย โพซิ้ว รองชนะเลิศอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 กล่าวว่า ตนรู้สึกภาคภูมิใจที่สุด ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “นางมโหธรเทวี นางสงกรานต์ ประจำปี 2567 โดยส่วนตัวชอบสวมใส่ชุดไทย และตนมีความผูกพันกับประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่เด็ก แม้จะไปเติบโตในต่างประเทศ แต่ก็เคยมีโอกาสได้สัมผัสประเพณีที่งดงามนี้ เท่าที่จำความได้นั้น สงกรานต์เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบุพการีอีกด้วย

 

 

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้รับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เป็นการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศเพื่อยกระดับและพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ ให้แก่ประเทศไทย

ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงขอเชิญร่วมกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ประกอบด้วย

– งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2567 ณ อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วันที่ 10 เมษายน 2567

– นิทรรศการ สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ 10 – 12 เมษายน 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานกลางแจ้งหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC)

– งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ระหว่าง 12-16 เมษายน 2567

และ กิจกรรมการแสดงสืบสานประเพณีสงกรานต์ ในงานใต้ร่มพระบารมี 242 กรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 13 เมษายน 2567 ณ เวทีการแสดง สังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น

   

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น