เวียดนาม นิวส์ สื่อทางการเวียดนาม รายงานภายใต้พาดหัวว่า “ทุเรียน ผงาดเป็นผลไม้ทองคำ ในบรรดาสินค้าเกษตรส่งออกของเวียดนาม” (Durian emerging as ‘golden fruit’ among Viet Nam’s export) เนื่องจากข้อได้เปรียบของราคาขายที่สูง และความต้องการของตลาดนำเข้า ทำให้ทุเรียน อยู่เหนือกว่ามากเมื่อเทียบกับพืชส่งออกอื่น ๆ ของเวียดนาม เช่น พริกไทย แก้วมังกร และยางพารา
รายงานอ้าง โด ฮา นัม ประธานคณะกรรมการและผู้อำนวยการของ อินทิเท็กซ์ กรุ๊ป บริษัทผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ว่า กาแฟและพริกไทย ให้ผลกำไรอยู่ระหว่าง 200 – 300 ล้านด่อง ( 2 แสน 9 หมื่น ถึง 4 แสน 3 หมื่นบาท ) ต่อเฮกตาร์ต่อปี (6.25ไร่/ปี) ในขณะที่ทุเรียน ให้ผลกำไร 2 พันล้านด่อง (ประมาณ 2 ล้าน 9 แสนบาท) ต่อเฮกตาร์ต่อปี ไม่มีผลผลิตการเกษตรชนิดใดที่สร้างรายได้จากการส่งออกอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ตลาดโลก ได้เท่ากับทุเรียน
สถิติกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 25% ต่อปี ปัจจุบัน เวียดนามปลูกทุเรียนมากกว่า 6 แสน 8 หมื่น 7 พัน 500 ไร่ มีผลผลิตเกือบ 850,000 ตันต่อปี พื้นที่ปลูกทุเรียนหลักของประเทศ ได้แก่ พื้นที่ราบสูงตอนกลาง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนตลาดการส่งออก ทุเรียนเวียดนามเข้าถึงตลาด 24 แห่ง แต่มูลค่าส่งออกไปจีน มีสัดส่วนเกือบ 99% ดังนั้น จีนจะยังเป็นผู้บริโภคทุเรียนหลักในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ย้ำสิ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและผู้ประกอบการส่งออก จำเป็นต้องทำ ก็คือ ต้องรับประกันคุณภาพ และแหล่งต้นทาง เมื่อส่งออกไปจีน เพื่อให้มั่นใจว่าทุเรียนเวียดนามจะสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดนี้ไว้ได้ ขณะที่สมาคมผักผลไม้เวียดนาม ระบุว่า ยังมีโอกาสอีกมากมายสำหรับเวียดนาม ที่จะส่งออกทุเรียนไปจีนและตลาดโลก และคาดการณ์ว่ารายได้จากการส่งออกทุเรียนปีนี้ จะแตะ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 1 แสน 2 หมื่น 5 พันล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ
ดั่ง ฟุก เหวียน เลขาธิการสมาคมผักผลไม้เวียดนาม กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ทุเรียนเวียดนามมีคุณภาพคงที่ และสามารถแข่งกับทุเรียนไทย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ได้ เวียดนามมีทุเรียนตลอดปี ขณะที่ไทย เป็นผลไม้ตามฤดูกาล หากยังรักษาคุณภาพสูงไว้ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะสููญเสียตลาดในจีน