"กู้ กยศ. 2567" ปรับปรุงยอดหนี้ - ปิดบัญชีได้ทันที รายใหม่ คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี เบี้ยปรับ 0.5% ต่อปี แถม ถ้าไม่เคยผิดชำระหนี้ ปิดบัญชีลดเงินต้น 3%
ข่าวที่น่าสนใจ
“กู้ กยศ. 2567” ลดดอกเบี้ย – เบี้ยปรับ?
การดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งกำหนดคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี (เดิม 1%) เบี้ยปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี (เดิม 7.5%)
โดยผลของกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่เพียงแต่มีการปรับปรุงยอดหนี้ (Recalculate) ของผู้กู้ยืมกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างถูกบังคับคดีหรือถูกอายัดเงินเท่านั้น ในส่วนของผู้กู้ กยศ. รายใหม่ ก็จะคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับลดลงตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาด้วย และกรณีที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ หากปิดบัญชีลดเงินต้น 3%
นอกจากนี้ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพิ่มให้กู้ยืมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill – Upskill พร้อมเปลี่ยนลำดับตัดชำระจากเดิม เป็นตัดต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ตามลำดับ
5 ลักษณะผู้กู้ กยศ.
- ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- ลักษณะที่ 2 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิต กำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
- ลักษณะที่ 3 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
- ลักษณะที่ 4 นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยให้กู้ในระดับปริญญาโท
- ลักษณะที่ 5 ลักษณะอื่นตามความจำเป็นและเหมาะสม
สถิติข้อมูลกู้ กยศ.
- ผู้กู้ยืมเงินกองทุน 6,809,339 ราย (ณ วันที่ 31 มกราคม 2567)
- อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,501,935 ราย คิดเป็น 52%
- อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,368,761 ราย คิดเป็น 20%
- ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,866,022 ราย คิดเป็น 27%
- เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 72,621 ราย คิดเป็น 1%
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กองทุนได้ดำเนินการปรับปรุงยอดหนี้ (Recalculate) ของผู้กู้ยืมกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่มียอดหนี้คงเหลือและอยู่ระหว่างถูกบังคับคดีหรือถูกอายัดเงิน จำนวน 50,614 ราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่งผลให้ผู้กู้ยืมบางรายมีสถานะปิดบัญชีได้ทันทีและมีผู้กู้ยืมที่จะได้รับเงินคืนส่วนที่ชำระเงินเกินจำนวน 3,494 ราย เป็นเงินประมาณ 97 ล้านบาท
ส่วนยอดหนี้เสียของกองทุนในปัจจุบันมีราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวนับจากปี 2560 ที่มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ประเมินว่ายอดหนี้เสียดังกล่าวจะทยอยลดลง หลังจากที่กองทุนได้ปรับวิธีการคำนวณการชำระหนี้ใหม่ ปัจจุบันสินเชื่อคงค้างของ กยศ. อยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท โดยมีลูกหนี้ 3.5 ล้านคน
กำหนดการ “กู้ กยศ. 2567”
กยศ. เปิดปฏิทินกู้ยืมเงิน ประจำปีการศึกษา 2567 สำหรับผู้กู้รายเก่าเลื่อนชั้นปี ส่วนผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ และผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา หรือเปลี่ยนสถานศึกษา จะแจ้งให้ทราบเป็นลำดับถัดไป
ทั้งนี้ ตามประกาศเรื่อง กำหนดการให้กู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2567 (เฉพาะรายเก่าเลื่อนชั้นปี) ในส่วนของสถานศึกษาทั่วไป มีรายละเอียดดังนี้
ภาคเรียนที่ 1
- ตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป สถานศึกษาบันทึกปฏิทินการศึกษา (เฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา) ค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร และรายงานสถานภาพการศึกษาของผู้กู้ยืม
- 1 เม.ย.- 31 ก.ค. ผู้กู้ยืมเงินเข้าใช้งาน กยศ. Connect/ระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL)
- 1 เม.ย.- 31 ส.ค. สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน, ผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปียื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 ก.ย. สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหาร และจัดการเงินให้กู้ยืม
ภาคเรียนที่ 2
- 1 ก.ย. 67 – 31 ม.ค. 68 สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน, ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 ก.พ. 68 สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการให้กู้ยืม
ภาคเรียนที่ 3 (สำหรับสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ 3 ภาคเรียน)
- 1 ม.ค.- 31 มี.ค. 68 สถานศึกษาบันทึกค่าใช้จ่ายตามจริงของผู้กู้ยืมเงิน, ผู้กู้ยืมเงินยื่นแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม และลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
- ไม่เกิน 15 เม.ย. 68 สถานศึกษาจัดส่งเอกสารแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมให้ผู้บริหารและจัดการให้กู้ยืม
“กู้ กยศ. 2567” กู้ยืมเงินเรียนการบริบาล
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดโครงการนำร่องการให้เงินกู้ยืมในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) ร่วมกับสถาบันทันตกรรม และโรงเรียนเอกชนนอกระบบ รวม 74 แห่ง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยจะเริ่มจากหลักสูตร
- การดูแลเด็กเล็ก
- การผู้ดูแลผู้สูงอายุ
- พนักงานให้การดูแล
- ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์
- ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ขั้นสูง
ทั้งนี้ เป็นโครงการนำร่อง 2 ปี (ปีการศึกษา 66 – 67)
- ให้เงินกู้ยืมเป็นค่าเล่าเรียน “ไม่เกิน 50,000 บาท/หลักสูตร/คน/ครั้ง”
- กำหนดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
- ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี
คุณสมบัติ/เงื่อนไข
- มีอายุ 18 – 60 ปีบริบูรณ์
- ศึกษาในหลักสูตร/สาขาวิชาตามประกาศที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด
- ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 2 ปี ก่อนการยื่นขอกู้ยืม
- ต้องไม่กู้ยืมซ้ำซ้อนกับลักษณะอื่น ๆ ณ ปีการศึกษานั้น ๆ
สนใจสามารถติดตามประกาศและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : คลิกที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง