"โมนูพิราเวียร์" เปิดสาเหตุโลกไม่นิยมใช้สู้โควิด มีประเด็นความเสี่ยงในเรื่องของการสร้างไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็น
ข่าวที่น่าสนใจ
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า
ยารักษาโควิด MoInupiravir มีกลไกการจัดการไวรัสในร่างกายโดยการเข้าไปเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมของไวรัสแบบไม่จำเพาะเจาะจง ทำให้ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีทิศทางจนไม่สามารถเพิ่มได้จำนวนได้เหมือนไวรัสปกติและไปต่อไม่ได้ในที่สุด
แต่ยังไม่เคยมีงานวิจัยวัดการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมของไวรัสในระหว่างการใช้ยาจริง ๆ ออกมาให้เห็นชัดว่าเปลี่ยนไว เปลี่ยนเยอะขนาดไหน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ชิ้นนี้ แสดงข้อมูลออกมาชัดมากว่า ในช่วง 5 วันหลังผู้ป่วยโควิดได้รับยาตัวนี้ ไวรัสในร่างกายของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เทียบเส้นสีม่วง (รับยา) กับ เส้นสีเทา (รักษาปกติไม่รับยา) ไวรัสในร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับยาสามารถมีการเปลี่ยนแปลงบนสายพันธุกรรมของไวรัสได้สูงถึงเฉลี่ยกว่า 500 ตำแหน่ง กระจายทั่วทั้งสายพันธุกรรมของไวรัส
ในขณะที่กลุ่มไม่รับยาแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในไวรัสเลย ที่น่าสนใจคือ หลังหยุดยา เส้นสีม่วงจะเริ่มหักหัวลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่า ไวรัสตัวที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ๆ หลายตำแหน่งไปต่อไม่ได้ ไม่สามารถตรวจพบในร่างกายหลังจากนั้น แต่ประเด็นที่เริ่มมีคนกังวลกันคือ เส้นสีม่วงจะตกลงมาชนกับเส้นสีเทาหลังผู้ป่วยหายจากโควิดหรือไม่ เพราะถ้าไม่ชนแสดงว่าไวรัสที่เปลี่ยนแปลงจากการใช้ยาจะเป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือหลายคนเรียกว่า ไวรัสกลายพันธุ์ออกไป ซึ่งจะกลายเป็นไวรัสที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรืออาจจะเป็นไวรัสที่มีคุณสมบัติใหม่ ๆ แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้
การใช้ยา MoInupiravir จึงมีประเด็นความเสี่ยงในเรื่องของการสร้างไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็น ปัจจุบันจึงไม่มีคำแนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการรุนแรงแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง