"วันสตรีสากล 8 มีนาคม" นี้ ร่วมเฉลิมฉลอง เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจนสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น
ข่าวที่น่าสนใจ
ประวัติ “วันสตรีสากล 8 มีนาคม”
เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)
จากนั้นในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16 – 17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ เป็นผลให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก
ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ คลาร่า เซทคิน (CLARE ZETKIN) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรีด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ คลาร่า เซทคิน และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า ขนมปังกับดอกกุหลาบ ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อม ๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ
- ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง
- ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง
- อีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน
พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย มีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็ก และรับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซทคิน ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน สตรีสากล
ความสำคัญของ “วันสตรีสากล 8 มีนาคม”
ในวัน สตรีสากล บรรดาผู้หญิงในหลาย ๆ ประเทศจากทุกทวีป รวมทั้งองค์กรที่ทำงานด้านผู้หญิง จะรวมตัวกันเพื่อร่วมฉลองวันสำคัญนี้ และร่วมรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ประเทศเห็นความสำคัญของวัน สตรีสากล จึงได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันหยุดประจำชาติ และวัน สตรีสากล ก็ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่องค์การสหประชาชาติจะได้ร่วมเฉลิมฉลองอีกด้วย
ดอกไม้ประจำวัน สตรีสากล
ดอกมิโมซ่าสีเหลือง เป็นดอกไม้ประจำวันสตรีสากล มีความหมายถึงความอ่อนโยนของผู้หญิง แต่แข็งแกร่งเพราะเป็นดอกไม้ที่เติบโตในช่วงฤดูหนาว แม้อากาศจะหนาวเย็นก็อยู่รอดผ่านฤดูหนาวมาได้ บางประเทศใช้ดอกไม้ชนิดอื่นแทนวันสตรีสากล เช่น ดอกทิวลิป ดอกกุหลาบ
วัน สตรีสากล ในไทย?
จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 โดยคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) สังกัดสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจความสำคัญของวัน สตรีสากล และได้มีการปรับกฎหมายแรงงานต่าง ๆ ของสตรี ให้สอดคล้องกับตามรูปแบบของการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี จะมีการจัดการมอบรางวัลให้แก่สตรีที่ทำประโยชน์แก่สังคม ในสาขาอาชีพต่าง ๆ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า ในวันที่ 8 มีนาคม 2567 กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จะจัดงานวัน สตรีสากล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจนสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น” เนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีนั้น องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวัน สตรีสากล และประเทศไทยของเราได้เฉลิมฉลองวัน สตรีสากล มาเป็นเวลา 36 ปี
“ภายในงานจะนำเสนอถึงการส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนบทบาทสตรีทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเมือง ให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้”
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า งานวัน สตรีสากล ปีนี้ จะมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสตรีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเครือข่ายด้านสตรีทั่วประเทศ ประชาชน และความเสมอภาคทางเพศ โดยในวันเดียวกันนั้น ทางจังหวัด โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวัน สตรีสากล เช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง