“วราวุธ” ชูนโยบายสร้างมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร

กดติดตาม TOP NEWS

“วราวุธ” แถลงนโยบาย "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" ระดมทุกภาคส่วนออกแบบนโยบาย - มาตรการ เตรียมชงเข้า ครม. - เสนอที่ประชุม UN

“วราวุธ” ชูนโยบายสร้างมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร Top News รายงาน

วราวุธ
วันที่ (7 มีนาคม 2567) เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร” โดยร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank พร้อมทั้งแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้สังคมตระหนักถึงประเด็นท้าทายของประชากรที่ส่งผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากรทุกช่วงวัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวไทยสู่ความมั่นคงของมนุษย์ โดย Workshop ระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในรูปแบบ World Café จากกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มระบบนิเวศน์ เพื่อความมั่นคงของครอบครัว โดยมี ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่าย NGOs และองค์กรประชาสังคม รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และอินฟลู เอนเซอร์ (Influencers)เข้าร่วมงาน ณ ห้องเพลนารี ฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กทม.

นายวราวุธ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ในขณะที่ สัดส่วนประชากรสูงอายุยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจากกรมการปกครอง พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ20.08 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีเพียง 5.18 แสนคน และคาดการณ์ว่าในปี 2585 ประชากรไทยจะลดลงเหลือจำนวน 60 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.27 เหลือร้อยละ 10.36 ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ลดลงจากร้อยละ 64.87 เหลือร้อยละ 58.20 ในขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.86 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 31.44 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.5 ล้านคน เป็น 18.9 ล้านคน (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2565) ส่งผลให้อนาคตของประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตวัยแรงงานที่ขาดแคลนและประสบกับภาวะพึ่งพิงของผู้สูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ล้วนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่ ข้อมูลรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) ในปี 2564 พบว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและทัศนคิดของคนรุ่นใหม่ (Generation Y และ Z) เป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของแรงงานนอกระบบรูปแบบใหม่ (Gig workers) ที่คาดว่ามีจำนวนประมาณ 1-5 ล้านคน ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ในชีวิตและการทำงาน และข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุที่ทำงาน 4.74 ล้านคน (36.1%) เพิ่มขึ้น 0.2 ล้านคน จากปี 2564 (4.54 ล้านคน, 34.9%) โดยผู้สูงอายุยังคงทำงานเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เงินออมไม่พอ ไม่มีลูกหลานดูแล นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2562 กลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและว่างงาน หรือกลุ่ม NEET (Not in Education, Employment or Training) ที่มีอายุ 15-29 ปี จำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของประชากรในกลุ่มอายุดังกล่าวทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากครอบครัวรายได้น้อย รวมทั้งข้อมูลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) พบว่า “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนจาก “ครอบครัวยากจน” จำนวนมาก ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสูงกว่าภาคบังคับ ทั้งนี้ ยูเนสโก ระบุว่าไทยมีเยาวชนจากครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ โดยมีเพียง 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ น้อยกว่าเด็กที่มาจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศถึง 6 เท่า อีกทั้งข้อมูลจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Accounts: NTA) พบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการขาดดุลรายได้ (Life Cycle Deficit : LDC) ของประเทศเพิ่มขึ้น 1.34 เท่าในช่วงปี 2562-2583 และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 2583 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.41 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2564) งบประมาณด้านสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (2565-2583) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในระยะยาว ภาครัฐและทุกภาคส่วนของสังคม จึงต้องตื่นตัวมากขึ้นในการกำหนดหรือออกแบบนโยบายตั้งแต่วันนี้ ที่จะทำให้รายได้จากแรงงานเพิ่มสูงขึ้น และจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบัน
และมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ ให้ความรู้กับทุกช่วงวัยและให้ความสำคัญกับการปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการการเงิน การออม เป็นต้น

นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ต่างๆ ข้างต้น จึงอาจคาดการณ์ได้ถึงวิกฤตทางประชากรในอนาคตที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรแบบก้าวกระโดด จึงเป็นความท้าทายต่อบทบาทและภารกิจของกระทรวง พม. ไม่ว่าจะประเด็นวิกฤตเด็กเกิดน้อย ในขณะเดียวกัน เด็กที่เกิดมาอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อมที่จะดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายที่ต้องพิจารณาถึงครอบครัวของเด็กในการเลี้ยงดูเด็กให้มีประสิทธิภาพ กลไกของรัฐหรือกลไกของสังคมที่ต้องเข้ามาดูแลมากขึ้น เพื่อให้การเกิดอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายของกระทรวง พม. ทั้งในเรื่องเด็กและครอบครัว นอกจากนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่วัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายภาคส่วนมีความเป็นห่วงเรื่องกำลังแรงงานที่ลดลง และต้องแบกรับภาระดูแลประชากรช่วยวัยอื่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ การที่ผู้สูงอายุยังคงทำงานเพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ เงินออมไม่พอ และปราศจากลูกหลานดูแลเป็นต้น ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญของสังคมไทยที่รออยู่ในอนาคตข้างหน้าที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความท้าทายต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางการเงินการคลังของประเทศ 2) ท้าทายต่อการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม 3) ท้าทายต่อความยั่งยืนของระบบการเงินของครัวเรือน ตลาดการเงิน และระบบการคลังของประเทศ และ 4) ท้าทายต่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ การได้รับการศึกษา การทำงาน ระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม และที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย

นายวราวุธ กล่าวต่อไปอีกว่า จากสถานการณ์วิกฤตประชากรดังกล่าว ถือเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง พม. ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. จำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง พม. และร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจ ให้สอดรับกับประเด็นท้าทายและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากวิกฤตประชากรที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพันภัยวิกฤตประชากร” โดยร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ
จุฬาอารี และ World Bank เพื่อสื่อสารให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญวิกฤตประชากร และให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ทุกมิติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งให้คนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติและเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของสังคมไทย โดยมีเข้าร่วมประชุมประมาณ 300 เป็นผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้บริหารกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เครือข่าย NGOs และองค์กรประชาสังคม รวมถึงองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ระดมความคิดในรูปแบบ World Café เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบนโยบาย มาตรการ และขับเคลื่อนพัฒนาความมั่นคงของครอบครัวสู่ความมั่นคงของมนุษย์ โดยแบ่งเป็นการปฏิบัติการกลุ่มย่อย
5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเด็กและเยาวชน 2) กลุ่มวัยทำงาน 3) กลุ่มผู้สูงอายุ 4) กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และ 5) กลุ่มระบบนิเวศน์เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

สำหรับนโยบายที่ต้องเร่งทําทันทีตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร คือ 1. เสริมพลังวัยทํางาน 2.เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3. สร้างพลังผู้สูงอายุ พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส 4. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ 5. สร้างระบบนิเวศ (Eco-system) เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้ กระทรวง พม. จะดำเนินการจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากร
และการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (57th Session of Commission on Population and Development : CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2567

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น