เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 19.00 น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายนพพร เรืองสว่าง นายอำเภอเวียงสา นายวีระพงษ์ กังวานวนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายแพทย์ชาตรี เจริญศิริ ผู้แทนศูนย์น่านศึกษา นางภัทรภร ชัยวัฒนกุล วัฒนธรรมจังหวัดน่าน นายพงษ์นรินทร์ สุทธารักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา และนายจุมพล อภิสุข ผู้อำนวยการน่านเฟส พร้อมทีมสล่ากึ๊ด ได้ร่วมกันเปิดงาน Nan Fest Showcase ภายใต้กิจกรรมเทศกาลน่าน Nan Fest โดยมีผู้ร่วมดำเนินการจากหลายภาคส่วนเพื่อการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้ โดยกิจกรรมเทศกาลน่าน Nan Fest จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญผสมผสานวัฒนธรรม ทั้งในด้านประเพณีนิยมและร่วมสมัย มารวมกัน เพื่อให้เมืองน่านเป็นเมืองแห่งเทศกาล ให้เป็นที่รู้จักโดยใช้แพลตฟอร์มของเทศกาลน่าน ในรูปแบบของกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่รวมผู้คนให้มาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างแท้จริง
Nan Fest Showcase เป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการเทศกาลน่าน โดยโครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนแนวทางของจังหวัดที่ส่งเสริมให้จังหวัดน่านเป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าขาย โดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของจังหวัดน่านควบคู่ไปกับวิถีชีวิตที่ร่วมสมัย อีกทั้งที่ผ่านมาโครงการนี้ยังได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อหลอมรวมหลากหลายผู้คน ต่างช่วงวัย ต่างอาชีพ ต่างชาติพันธุ์ คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ให้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้ที่จะขับเคลื่อนเมืองน่านต่อไปในอนาคต หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ชุมชนในระยะยาว การจัดงานในครั้งนี้ก็จะสามารถเชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการสืบสานวัฒนธรรมไปพร้อมๆกับการขับเคลื่อนเมืองน่าน งานเทศกาลน่านนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดน่าน ในรูปแบบของงานเทศกาล ที่ผสมผสานกิจวัฒนธรรม ทั้งในด้านประเพณีนิยมและร่วมสมัย ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2566 จนถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2567
นายวีระพงษ์ กังวานวนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กระบวนการบ่มเพาะจากพลังภายในที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการสื่อสาร ด้านต่างๆอย่างมีศิลปะ ทำให้เห็นว่าเป็นพลังจากภายในทั้งในตนเองและพลังของพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยนั้นๆ มีพลังและมีการสื่ออย่างสร้างสรรค์ที่สร้างแรงบันดาลใจ น่านเฟส กำลังทำหน้าที่เปิดพื้นที่แห่งพลังเหล่านั้นให้เชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์ของคนหลากหลายวัยได้เรียนรู้และทำงานด้วยกัน ผ่านสื่อที่ปลอดภัยและสรรค์ร่วมกันอย่างมีพลัง
ด้าน นายจุมพล อภิสุข ผู้อำนวยการน่านเฟส กล่าวถึง โครงการ Nan Fest Showcase ว่าได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับหน่วยงาน กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย (สศร.) , มูลนิธิน่านศึกษา, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท. น่าน) , สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) CEA , ธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่และ องค์กรเอกชนอีกหลายภาคส่วน ซึ่งถึงเวลาที่เราจะมาสำรวจ ถึงสิ่งที่น่านเฟสได้ทำมาในปีนี้ เป็นเพียงก้าวแรก ที่เราพยายามขับเคลื่อนเมืองน่าน คนน่าน ด้วยการ เชื่อมร้อยผู้คน ที่อยู่ในต่างเวลา ต่างยุค ต่างสมัย ให้มาโลดเล่นอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกกายภาพของเวียงน่าน และเวียงสา ด้วยสายตาของศิลปินร่วมสมัย ใน น่านสเคป – ภาพทัศน์ของเมืองน่าน ในสายตาของศิลปินน่าน
น่านครีเอเตอร์ – Nan Creator คือการขยายบริบทของ หัวโอ้เรือแข่งน่าน ที่เป็น หนึ่งเดียวในโลก ให้มาอยู่ในชีวิตของปัจจุบันมากขึ้น โดยการควบคุมและช่วยกำกับจาก FAB Café
น่านคราฟท์ – Nan Craft แสดงตัวตนชัดเจนขึ้นในฐานะศูนย์รวม งานฝีมือสล่ารุ่นใหม่และขยายบริบทของคำว่า “หัตถกรรม” ให้กว้างไปถึงงานออกแบบเครื่องดื่มเครื่องกิน
Nan Food Map – แผนที่ทางอาหารของเมืองน่าน ขุดค้นเอา จานเด็ด จานเดียว ของแต่ละคนทำอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตคนในเมืองน่าน ทั้งคนท้องถิ่นและผู้มาเยือน
น่านกลางแปลง หนังกลางแปลง เคยเปลี่ยนชีวิตกลางแจ้งของคนน่าน สู่มิติทางวัฒนธรรมและศิลปะสมัยใหม่ หลุดพ้นออกมาจากมิติเทศกาลประเพณีที่สืบเนื่องมายาวนาน จนน่านมีโรงภาพยนตร์ และคนน่านทุกบ้านมีทีวี มาถึงบัดนี้ คนน่านรับความบันเทิงส่วนตัวจากอุ้งมือของตัวเอง ทีมน่านกลางแปลง ใช้เวลานานนับเดือนในหอภาพยนตร์ไทย และแหล่งรวมภาพยนตร์หลากหลายแหล่ง เพื่อค้นหาสิ่งที่พวกเขาคิดว่าคนน่านควรได้ดู ควรได้เห็น ทั้งในรูปแบบของฟิล์มภาพยนตร์และข้อมูลที่สำคัญ
น่านหนังสั้น นับเป็นสิ่งที่น่านตื่นเต้น จากการตั้งฐานผู้เข้าร่วมไว้แค่ 20 แต่กลับกลายเป็น 90 ทีมทำหนังสั้นที่ต้องการมารับรู้ประสบการณ์ร่วมกันกับ คนทำหนังมืออาชีพแนวหน้าของไทย คุณนนทรีย์ นิมิบุตร กับ คุณสันติ แต้พานิช ในทางดนตรี ครูนอร์ท รังสฤษฎ์ สิทธิพงศ์ แห่งโรงเรียนดนตรีแฟนตาเซีย ทำงานอย่างหนักร่วมกับ พี่น้องชาติพันธุ์ ม้ง กึมมุ ลัวะ และคนเมืองในพื้นที่ต่ำ สร้างสรรค์งานดนตรี
นายจุมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า น่านเฟส เป็นการทำงานที่เหลือเชื่อ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า ด้วยความหวัง ด้วยความรัก ด้วยเชื่อมั่นในแรงพลังของเยาวชนคนน่าน น่านเฟส อาจจะดูแปลกในสายตาของนักศิลปะร่วมสมัย แต่เราภูมิใจที่สามารถรวมพ่อครู สล่าซออาวุโสของเวียงน่านและน่านใต้ มาร่วมกันชักชวนเด็ก เยาวชน ให้ออกมาขับซอประชันกัน ซึ่งนอกจากเราจะได้เห็นความต่อเนื่องของวิถีเพลงดั้งเดิมของน่านเราในจิตวิญญาณของเด็ก ๆ แล้ว อาจจะเป็นครั้งหนึ่งในหลายปี ที่พ่อครูทั้งหลายจะมาบรรเลงร่วมกันบนเวทีเดียวกัน เหมือนการสนทนา เสวนาประสาสล่าครูเพลง และอื่น ๆ อีกมากมาย เราไม่ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้เพียงวันเดียว น่านเฟสเปิดตัวขึ้นตั้งแต่ สิงหาคม 2566 และเดินทางต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ กว่า 7 เดือน เต็มของการเคลื่อนไหวด้วย แรงพลังของทีมงาน ผู้สนับสนุนทุกคน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน