ศุกร์ที่สองของเดือนมีนาคมในทุก ๆ ปี เป็น "วันนอนหลับโลก" เช็ค ๆ 7 เทคนิคหลับสนิท แต่ถ้านอนไม่หลับจริง ๆ ควรกินยานอนหลับเมื่อไหร่?
ข่าวที่น่าสนใจ
การนอนหลับสำคัญ?
การนอนหลับเป็นส่วนสำคัญของกิจวัตรประจำวัน ผู้คนใช้เวลาประมาณ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมดไปกับการนอนหลับ การนอนหลับที่มีคุณภาพและพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีความสำคัญต่อการอยู่รอดเช่นเดียวกับอาหารและน้ำ การนอนหลับส่งผลต่อเนื้อเยื่อและระบบเกือบทุกชนิดในร่างกาย ตั้งแต่สมอง หัวใจ ปอด ไปจนถึงเมตาบอลิซึม การทำงานของภูมิคุ้มกัน อารมณ์ และความต้านทานต่อโรค การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การอดนอนเรื้อรังหรือการนอนที่มีคุณภาพต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า โรคอ้วน สมาธิสั้น และการตอบสนองช้า การคิด ความจำ รวมไปถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ และอาจสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานด้วย
นอนกี่ชั่วโมงดี?
ทั้งนี้ สำหรับการนอนอย่างไรให้พอดีกับทุกช่วงวัยนั้น
- ทารกแรกเกิด – 3 เดือน ควรนอน 14 – 17 ชั่วโมง
- ทารก 4 – 11 เดือน ควรนอน 12 – 16 ชั่วโมง
- เด็กวัยหัดเดิน 1 – 2 ปี ควรนอน 11 – 14 ชั่วโมง
- เด็กอนุบาล 3 – 5 ปี ควรนอน 10 – 13 ชั่วโมง
- เด็กประถมวัย 6 – 13 ปี ควรนอน 9 – 11 ชั่วโมง
- วัยรุ่น 14 – 17 ปี ควรนอน 8 – 10 ชั่วโมง
- ผู้ใหญ่ 18 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และสตรีมีครรภ์ ควรนอน 7 – 9 ชั่วโมง
เทคนิคหลับสนิท?
ส่วนเทคนิคช่วยให้หลับสนิทมากขึ้น มีดังนี้
- ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน
- เลี่ยงอาหารมื้อหลัก ก่อนเข้านอน
- เลี่ยงกาแฟ แอลกอฮอร์ ก่อนเข้านอน
- ผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ
- จัดระเบียบห้องนอนและกำจัดสิ่งรบกวน
- เลี่ยงสูบบุหรี่
- เข้านอนให้เป็นเวลา
กินยานอนหลับเมื่อไหร่?
การนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนได้ แล้วเราควรกินยานอนหลับเมื่อไหร่กัน โดยทางการแพทย์นั้น จะแนะนำให้ผู้ที่นอนไม่หลับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอนเสียก่อน เพราะส่วนมากแล้ว อาการนอนไม่หลับมักเกิดขึ้นชั่วคราวตามสาเหตุ ซึ่งถ้าแก้ไขสาเหตุหรือสาเหตุหมดไป เราก็จะนอนหลับได้ตามเดิม ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหลังเที่ยงวัน งดออกกำลังกายก่อนเข้านอน ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ยาชั่วคราว อาจลองใช้ประเภทยาที่ทำให้ง่วงนอนที่เราสามารถหาซื้อได้ทั่ว ๆ ไป เช่น ยาแก้แพ้ เป็นต้น
ในกรณีที่อาการนอนไม่หลับรุนแรง หรือเรื้อรัง คือ อาการนอนไม่หลับอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำและอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยานอนหลับมากินเอง เนื่องจากยานอนหลับมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไต ได้ อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่พวกยานอนหลับจะมีผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อาการง่วง หรือมึนศีรษะในช่วงเวลากลางวัน ลืมเหตุการณ์หลังจากใช้ยาในระยะเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่ง อาการดื้อยาทำให้ต้องใช้ยาจำนวนมากขึ้น และอาการติดยา
ซึ่งสรุปแล้ว หากอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ควรแก้ที่สาเหตุก่อนการกินยา แต่ถ้าอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ่อย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง