ปรมาจารย์รัฐศาสตร์แห่งเมืองไทยอย่าง “อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร” กัดไม่ปล่อยแน่งานนี้ นับตั้งแต่ชนะคดีหมิ่นประมาท “อาจารย์ณัฐพล ใจจริง” อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้เขียนหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพราะถูกจับโป๊ะกลางศาลยุติธรรม ว่ากุเรื่อง ด้วยการอ้างอิงคลาดเคลื่อน ถึง 31 จุด ในวิทยานิพนธ์ “ดีเด่น” หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของ “ผศ.ดร.ณัฐพล” ใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เอกราช ที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันเบื้องสูง
ล่าสุด “อาจารย์ไชยันต์” ระบุข้อความว่า เรียนท่านอาจารย์วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยแห่งวงการวิชาการไทยที่เคารพอย่างสูง
ผมขอเรียนถามท่านว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรกับวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก ที่ได้ประเมินระดับดีมาก แต่มีปัญหาเรื่อง data fabrication และ data falsification มากมาย ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเยาวชนที่หลงเชื่อและออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสุดโต่ง ผิดกฎหมายร้ายแรง และอาจเสียอนาคตได้ ใครต้องรับผิดชอบครับ ? พวกเราที่เป็นนักวิชาการ ใช่ไหมครับ ? แล้วนักวิชาการทั้งไทยและเทศ 279 คน ที่เข้าชื่อคัดค้านไม่ให้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นหละครับ?
มีชื่อท่าน ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อยู่ใน 279 คนด้วยนี่ครับ ตอนนั้น ท่านคัดค้านและอ้างเสรีภาพทางวิชาการทำไมหรือครับ ? มาบัดนี้ ท่านรีบกลับจุดยืนหลังคำตัดสินของศาลเร็วดีนะครับ (ก็ยังดีที่กลับ) ตกลง ท่านเคยอ่านวิทยานิพนธ์ และจุดบกพร่องที่ผมเคยนำเสนอมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 บ้างไหมครับ ?”
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ “ศ.ดร.ไชยันต์” เคยให้ข้อมูลว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแน่นอน คือ ความเข้าใจผิดว่ารัชกาลที่ผ่านมา สนับสนุนรัฐประหาร มีความกระตือรือร้นลงนามให้กับคณะรัฐประหาร ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็จะทำให้เยาวชนที่มาอ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2556 และ 2563 เข้าใจผิดได้ ทั้งหมดนี้อาจมาจากนักวิชาการบางท่านที่เขียนอะไรบิดเบือน และเหตุผลที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพราะตนเองไม่ได้ไปให้ร้ายกับใคร แล้วก็มีหลักฐานทุกอย่างครบถ้วนในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสิ่งที่คนอื่นเขียนมา และศาลบอกว่าสามารถที่จะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก สื่อออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเขียนวิจารณ์ผ่านบทความวิชาการ เพราะว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ และสิ่งที่นายณัฐพล เขียนมาก็บิดเบือนและไม่มีหลักฐานรองรับ เมื่อตนเองตรวจพบข้อบกพร่องโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในอดีต แต่ต่อให้ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อย่างน้อยก็ต้องให้มีความถูกต้องทางวิชาการ การอ้างอิงจะต้องมีหลักฐาน ไม่กุเรื่องขึ้นมา
ขณะเดียวกันศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์ไม่อาจทนกับนักวิชาการที่ไม่มีจริยธรรมกุเรื่องแต่งวิทยานิพนธ์ พาดพิงสถาบันในทางเสียหายได้ นั้นคือ “นายนันทิวัฒน์ สามารถ” อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในฐานะนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่นปี 2512 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“เรียนนายกสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามที่ผมและคณะได้เคยทำหนังสือเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 12 มกราคม 2564 ให้ทางบัณฑิตวิทยาลัยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบความคลาดเคลื่อนและความไม่ถูกต้อง ของดุษฎีนิพนธ์ของ นายณัฐพล ใจจริง ในหัวข้อเรื่อง การเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การจัดระเบียบโลกของสหรัฐ 2491-2500 นั้น
คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งขออนุญาตเอ่ยนามสองท่าน คือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ ดร.สุจิต บุญบงการ ได้ขอให้ผมให้ปากคำผ่านการประชุมทางซูมไปแล้วนั้น บัดนี้ เวลาล่วงเลยมามากพอสมควร และทราบว่า คณะกรรมการได้รายงานผลการสอบให้ทางมหาวิทยาลัยทราบแล้ว
ผมขอเรียกร้องผ่านสื่อเพื่อทวงถามผลการสอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเคยรับปากว่า จะแจ้งผลให้ผมทราบในฐานะผู้ร้องเรียน แต่เกรงว่า ทางมหาวิทยาลัยจะลืม เลยขอทวงถามผ่านสื่อโซเชียล และคาดหวังว่า ทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งผลการสอบให้ผมได้ทราบ
แม้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้พยายามลดความเสียหาย ด้วยการแจ้งไปยังเครือข่ายห้องสมุดให้ระงับการเผยแพร่ แต่ก็ได้มีการตัดตอนบางส่วนของดุษฎีนิพนธ์ไปจัดพิมพ์จำหน่าย
ความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์การเมืองไทย พาดพิงองค์พระประมุข สร้างข้อสงสัยว่า สถาบันจะนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา ด้วยการให้ผู้สำเร็จราชการเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อครอบงำการประชุม ซึ่งสร้างความเสียหายให้สถาบันที่ไม่มีโอกาสชี้แจงใดๆ
จึงของทวงถามผลการสอบสวนมา ณ ที่นี้”
ทั้ง “อาจารย์ไชยันต์” กับ “นายนันทิวัฒน์” ต่างรับไม่ได้กับการกุเรื่องแต่งนิยายตัดแปะบิดเบือนประวัติศาสตร์ไทย กระแทกต่อมจริยธรรมนักวิชาการ 279 คนที่ก่อนหน้านี้เคยถือหาง วิทยานิพนธ์ลวงโลกของ “นายณัฐพล” ที่สร้างกระแสเกลียดชังสถาบันเบื้องสูงปั่นหัวเยาวชนให้หลงเชื่อคลั่งการเมืองสุดโต่งทำผิดกฎหมายจนเสียอนาคต ดังนั้นใครกันแน่ที่ต้องออกมารับผิดชอบ