อนามัยโลก เตือน "ไข้นกแก้ว" ระบาดหนัก เสียชีวิต 5 รายแล้ว คนรักนกต้องระวัง รู้จักโรคซิทตาโคซิส อาการของนกเมื่อป่วย และการติดเชื้อมาสู่คน
ข่าวที่น่าสนใจ
ในปัจจุบันมีความนิยมเลี้ยงนกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มของนกแก้ว เนื่องจากความสวยงาม เพลิดเพลิน และความแสนรู้ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีโรคจากนกสู่คนมากมาย นอกจากนี้ ยังพบว่าติดต่อไปยังกลุ่มนกด้วยกันเองอีกด้วย โดยเฉพาะโรค “ไข้นกแก้ว” หรือ ซิทตาโคซิส (Psittacosis) ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียในตระกูล คลามัยเดีย ที่พบในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด
ล่าสุด องค์การอนามัยโลก ระบุ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า เกิดการระบาดของโรคซิทตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้ นกแก้ว ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศในยุโรป การระบาดของโรคซิทตาโคซิสเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2566 และกินเวลาจนถึงต้นปีนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิต 5 รายแล้ว
โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา CDC (Centers for Disease Control and Prevention) เผยว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะมีประวัติที่เคยสัมผัสกับสัตว์ปีก หรือนกป่า ทำให้เริ่มมีอาการป่วย บางรายมีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ, ไอแห้ง, มีไข้ และหนาวสั่น ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ประมาณ 5 – 14 วันก็จะหายเป็นปกติ แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจติดเชื้อขั้นรุนแรงจนลงปอด และบางรายเสียชีวิต
อาการของนกเมื่อป่วย?
การติดเชื้อ “ไข้นกแก้ว” เป็นการติดเชื้อแบบทั่วร่างกายและมีความรุนเรงถึงชีวิตได้โดยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่เคยมีการศึกษามา ได้แก่ สายพันธุ์, สัตว์ปีกที่ติดเชื้อ, อายุ, ปริมาณเชื้อที่ได้รับ, ความเครียด และสิ่งแวดล้อม
อาการที่พบมีตั้งแต่ ไม่แสดงอาการ แสดงอาการน้อยไปจนถึงรุนแรง โดยปรากฏอาการทั่วไปไม่จำเพาะ เช่น เบื่ออาหาร, อ่อนแรง, ขนยุ่งฟู, มีน้ำมูกน้ำตา, ตับโต และน้ำหนักลดลง
ขณะที่ อาการทางเดินหายใจที่พบมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ จาม, หายใจลำบาก, ไซนัสบวม เป็นต้น
ส่วนอาการทางเดินอาหารที่พบ ได้แก่ ท้องเสีย ร่วมกับอุจจาระสีเขียวอ่อน และพบภาวะ ปัสสาวะมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการพบอาการทางประสาท ได้แก่ คอบิด, หลังแอ่น, สั่นไหว, ชักเกร็ง, อัมพาตของขา สามารถพบได้ โดยเฉพาะในกรณีเคสที่เป็นมาระยะเวลานาน
การติดเชื้อมาสู่คนรุนแรง?
การติดเชื้อในคนพบว่าติดจากนกไปสู่คนโดยผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมากับปัสสาวะ, อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนกับเนื้อเยื่อของนกที่ติดเชื้อ อาการที่พบในคนโดยปกติจะคล้ายอาการเป็นไข้ แต่สามารถนำไปสู่อาการปอดอักเสบรุนแรง บางรายพบว่าทำให้เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ไตทำงานผิดปกติ และมีรายงานเป็นส่วนน้อยว่าเกิดภาวะแท้งบุตรในรายที่มีการตั้งครรภ์อีกด้วย
สำหรับ วิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคไข้ นกแก้ว ทาง WHO แนะว่า หากใครที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับนกเป็นประจำ อาทิ คนเลี้ยงนก หรือคนงานร้านจำหน่ายนก ให้รักษาสุขอนามัยให้ดี หากต้องสัมผัสโดยตรงกับนกหรือทำความสะอาดกรงนก ควรสวมถุงมือ และหน้ากากอนามัยเอาไว้ตลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง