รู้จัก "เดือนรอมฎอน" คืออะไร สำคัญอย่างไร ตรงกับวันที่เท่าไร ทำไมชาวมุสลิมต้อง ถือศีลอด เป็นระยะเวลา 29 - 30 วัน ตามหลักความเชื่อทางศาสนา
ข่าวที่น่าสนใจ
“เดือนรอมฎอน” ?
รอมฎอน ที่จริงแล้วไม่ใช่ชื่อของเทศกาลหรือธรรมเนียมใด ๆ แต่เป็นชื่อเรียกเดือนที่ 9 ในปฏิทิน ฮิจเราะญ์ หรือปฏิทินจันทรคติของอิสลาม ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เชื่อกันว่า พระผู้เป็นเจ้าประทาน “พระคัมภีร์อัลกุรอาน” ลงมาให้แก่ “นบีมูฮัมหมัด” ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อใช้สั่งสอนและเป็นเครื่องชี้ทางให้แก่อิสลามิกชนทั่วโลก
โดยในพระคัมภีร์ ระบุว่า วันที่พระเจ้าประทาน อัลกุรอาน ให้แก่ นบีมูฮัมหมัด คือช่วงวันที่ 26 – 27 ของเดือน รอมฎอน
ด้วยเหตุนี้ชาวมุสลิมจึงถือว่าเดือน รอมฎอน นี้ เป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ชาวมุสลิมทุกคนจึงต้องรักษาศีล อดอาหาร เพื่อฝึกฝนการบังคับตนเองและเพื่อให้เข้าถึงคำสอนของ นบีมูฮัมหมัด ให้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานอย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการบูชาพระเป็นเจ้า จนทำให้เดือนนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างในภาษาไทยว่า “เดือนบวช”
ตรงกับวันที่เท่าไร?
จุฬาราชมนตรี กำหนดวันเพื่อดูดวงจันทร์ ในวันที่ 10 มีนาคม 2567 หากในวันและเวลาดังกล่าวมีผู้เห็นดวงจันทร์แล้ว คณะกรรมการประจำจังหวัดจะตรวจสอบและรายงานผลการดูดวงจันทร์มายังจุฬาราชมนตรีต่อไป แล้วจะมีการพิจารณา เพื่อออกประกาศวันเริ่มต้นของ เดือน รอมฎอน ให้ทราบโดยทั่วกัน
โดยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ตามที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันแรกของการเข้าสู่เดือน รอมฎอน ฮิจเราะห์ ศักราช 1445 นั้น ปรากฏว่า หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันและเวลาดังกล่าวนั้น “ไม่มีผู้พบเห็นดวงจันทร์”
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในวันที่ 1 ของเดือน รอมฎอน นั้น จะตรงกับ “วันที่ 12 มีนาคม 2567”
ความสำคัญ?
แก่นสาระของการถือศีลอดในเดือน รอมฎอน มีจุดประสงค์เพื่อให้อิสลามิกชนได้ตระหนักรู้ถึงความยากลำบาก ได้เรียนรู้อุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต การถือศีลอดจึงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อให้รู้จักอดทน อดกลั้น ต่อความทุกข์ยากต่าง ๆ ด้วยความเพียร และสติปัญญา เป็นการขัดเกลาจิตใจให้อิสลามิกชนเป็นผู้มีสติหนักแน่น อดทนต่อความหิวโหย อดทนต่อความโกรธ ไม่ปล่อยจิตใจไหลไปตามสิ่งเย้ายวนอารมณ์
สิ่งที่ควรปฏิบัติ?
ส่วนข้อควรปฎิบัติในการถือศีลอด ตลอด “เดือนรอมฎอน” 29 – 30 วัน หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ไม่กระทำใดที่ขัดต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้
- ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย
- ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม
- ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก
- ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ
- ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย
ข้อห้ามขณะถือศีลอด?
ส่วนข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติ ในช่วงเวลากลางวัน มีดังนี้
- ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา
- ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา
- ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา
- ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา
สิ้นสุดเดือน รอมฎอน?
1 เดือนในปฏิทินจันทรคติ อาจมี 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ ดังนั้น ในเย็นของวันที่ 29 ของเดือน รอมฎอน มุสลิมก็จะพากันไปร่วมกันดูดวงจันทร์ หากเห็นก็ถือว่าวันต่อไปเป็นเดือนใหม่ และรอมฎอนก็สิ้นสุดลง เท่ากับว่า รอมฎอนของปีนั้นมี 29 วัน แต่หากไม่เห็นก็นับว่า รอมฎอน มี 30 วัน มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน จึงถือว่าเดือน รอมฎอน ของปีนั้นสิ้นสุดลง
เดือน รอมฎอน นับว่ามีความสำคัญ ตามบัญญัติของศาสนา 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือเรียกว่า “การถือบวช” คล้ายกับการถือศีล 5 ของชาวพุทธ แต่ศีลอดของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติศีลนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้น ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง