"ดร.นิว" ถามหาจริยธรรม "อ.ปริญญา" ไม่ยอมรับผลพ่ายแพ้ชิงอธิการฯมธ.
ข่าวที่น่าสนใจ
12 มีนาคม 2567 ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ขออนุญาตถามหาจริยธรรมของนายปริญญา แม้ว่านายปริญญาจะได้อันดับสุดท้ายในการเสนอชื่ออธิการบดีธรรมศาสตร์ แต่นายปริญญาก็คงไม่ยอมวางมือง่ายๆ เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้ทาบทามทั้งสามรายชื่อก่อนที่จะคัดเลือกเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย คนอย่างนายปริญญาจึงน่าจะตอบรับการทาบทาม เพราะด้านได้อายอด และนายปริญญาไม่ใช่สุภาพบุรุษที่รู้จักน้ำใจนักกีฬา
ทันทีที่นายปริญญาทราบผลการเสนอชื่อของประชาคมธรรมศาสตร์ แทนที่เขาจะยอมรับความพ่ายแพ้อย่างสุภาพบุรุษ แต่นายปริญญากลับแสดงความไม่เป็นสุภาพบุรุษออกมาอย่างชัดเจน เขาอ้างถึงเสียงของนักศึกษาที่ตนชนะและเสนอชื่อตนเพียงชื่อเดียว ทั้งๆ ที่เสียงของนักศึกษาเป็น 1 ใน 53 เสียงของประชาคมธรรมศาสตร์เท่านั้น
นับได้ว่านายปริญญาไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษเสียเลย ไม่รู้จักแพ้แถมยังอ้างเสียงของนักศึกษาที่ตนได้ประโยชน์จากวิชา TU100 วิชาภาคบังคับว่าด้วยหน้าที่พลเมือง ซึ่งไม่ต่างจากเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อสร้างความนิยม ทำให้นายปริญญาสามารถเข้าถึงนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย ได้เปรียบผู้เสนอตนเป็นอธิการบดีคนอื่นๆ ในคะแนนเสียงของนักศึกษา
นอกจากนี้นายปริญญายังเคยใช้วิชา TU100 เป็นประตูเชื้อเชิญพรรคก้าวไกลที่มีเจตนากับพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษา รวมถึงเขายังเป็นรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิตตอนปี 63 ที่เกิดม็อบสามนิ้วล้มล้างการปกครองขึ้นในธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตอีกด้วย
เห็นได้ชัดว่านายปริญญาผู้เป็นที่รู้จักของนักศึกษาผ่านวิชา TU100 จนกลายเป็นฐานเสียง องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ม็อบสามนิ้ว ตลอดจนพรรคก้าวไกล มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด จนไม่แปลกที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ในปัจจุบันจะถูกชี้นำและครอบงำตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ไม่นึกว่านายปริญญาในวัย 56 ปี จะไม่รู้จัก “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” สะกดคำว่า “น้ำใจนักกีฬา” ไม่เป็น แพ้แล้วก็ยังเล่นการเมืองแอบอิงกับนักศึกษาไม่เลิก แทนที่จะสอนนักศึกษาให้รู้เท่าทันการเมือง แต่นายปริญญากลับเห็นนักศึกษาเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการสนองตัณหาทางการเมืองของตนใช่หรือไม่?
การถ่ายรูปกับสโลแกน “เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” อาจเป็นเพียงแค่โฆษณาชวนเชื่อของนายปริญญา หากพฤติกรรมของเขากระทำในสิ่งตรงกันข้าม ดังนั้น การตอบรับหรือปฏิเสธการทาบทามของนายปริญญาผู้ได้อันดับรั้งท้ายในการเสนอชื่อเป็นอธิการบดี น่าจะตอบได้ดีว่าเขายังพอมีจริยธรรมหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่? นายปริญญารักธรรมศาสตร์หรือรักเกมการเมืองของตนกันแน่?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง