ชาร์ลี แคมป์เบล ผู้สื่อข่าวของไทม์ แม็กกาซีนได้เดินทางไปขอสัมภาษณ์นายเศรษฐาภายในห้องทำงานของทำเนียบรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าท่ามกลางนโยบายทางเศรษฐกิจที่นายเศรษฐาเสนอมาจำนวนมาก นายกฯของไทยจะสามารถแก้ปํญหาได้มากขนาดไหน
แคมป์เบลรายงานว่าเศรษฐาเป็นคนที่มีบุคลิกเปิดเผยกล้าแสดงออก นับตั้งแต่ที่รับตำแหน่งในเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2566) เศรษฐาเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆมากกว่า10 ประเทศ เพื่อเชิญชวนนักธุรกิจต่างชาติให้มาลงทุนในไทย ซึ่งรวมไปถึงนักธุรกิจจีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐและนักธุรกิจในที่ประชุมเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์
ไทม์บรรยายสภาพภายในห้องประชุมที่ใช้สัมภาษณ์ว่ามีกระดานที่เขียนนโยบายและเป้าหมายเศรษฐกิจของนายกเศรษฐา ร่ายเรียงมาตั้งแต่ โครงการดิจิตัลวอลเล็ท, ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินโลก, โครงการเหมืองแร่โปแตช, โครงการลงทุนของเทสล่า ซึ่งความพยายามของเศรษฐาได้เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมขึ้นมาบ้าง โดยตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วเพิ่มขึ้ันเป็นสองเท่าจากปีก่อนหน้า เฉพาะเดือนพฤจิกายนเดือนเดียว เศรษฐาบอกว่าการลงทุนของแอมาซอน เว็ป เซอร์วิส, Google และไมโครซอฟต์รวมกันได้มูลค่าถึง 8.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ไทม์บอกว่าด้วยความมีเสน่ห์ของความเป็นเซลล์แมน เศรษฐาบอกว่า “ผมต้องการจะประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยได้กลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง” ทั้งนี้ไทม์รายงานว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะเริ่มกลับมาทำการค้า หลังจาก 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ได้ชื่อว่ายิ้มสยามได้ติดอยู่ในกับดักแห่งความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียนต้องหยุดนิ่ง GDP อยู่ต่ำกว่า 2% ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์, อินโดฯ, เวียดนามมี GDP เพิ่มเป็น 2-3 เท่าตัว
เศรษฐายอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เขากล่าวว่า “ เศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ และเราจะต้องเร่งแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน” เศรษฐาได้ลดภาษีเชื้อเพลิง, พักหนี้เกษตรกร 3 ปี, ประกาศแผนแจกเงินดิจิตัล รวมทั้งให้ฟรีวีซ่าท่องเที่ยวกับจีนและอินเดีย และยังเตรียมจะขยายไปยังประเทศอื่นอีก นอกจากนโยบายท่องเที่ยวแล้ว เศรษฐายังมีแผนให้ไทยเป็นศุนย์กลางการขนส่ง (logisitcs), ด้านสาธารณสุข, และการเงิน ทั้งมีแผนผลักดันไทยให้ขึ้นสู่เวทีโลก ด้วยการเป็นเจ้าภาพให้หวางอี้ รมว.ต่างประเทศจีนมาพบหารือกับเจค ซัลลีแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐที่ไทย โดยหวังให้ไทยเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองมหาอำนาจที่ขัดแย้งกัน เพื่อจะผลักดันไทยเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจของเศรษฐายังมีอุปสรรคอีกมาก ทั้งเรื่องปัญหาความยากจน ขณะที่โครงการแจกเงินดิจิตัลก็ยังถูกสกัดจากผุ้ว่าแบงค์ชาติ ทำเอาเศรษฐาถึงกับบ่นว่าแปลกใจที่นายกไทยไม่มีอำนาจผลักดันเรื่องนี้ อีกปัญหาสำคัญคือเศรษฐาถูกมองว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดของทักษิณ แม้ตัวเขาจะปฏิเสธเสียงแข็ง
และอีกปัญหาสำคัญคือเรื่องที่เศรษฐาพยายามเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย ทั้่งๆที่ทุกคนรู้ว่าเศรษฐกิจไทยถุกครอบงำโดยสองครอบครัวมหาเศรษฐีและนักธุรกิจไทย โดยสองกลุ่มนักธุรกิจนี้ได้ครอบงำพื้นที่ธุรกิจไทยไปแล้วราว 90% แม้นักธุรกิจต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในหลายภาคส่วนรวมทั้งภาคการสื่อสาร, การค้าปลีก, เครื่องดื่ม ทุกคนรู้ดีว่าธุรกิจเหล่านี้ถูกยึดครองไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งเศรษฐายังคงปฏิเสธในเรื่องนี้ โดยยืนยันว่าไทยยังมีพื้นที่และโอกาสอีกมากมายสำหรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ