"ผอ.โรงเรียน" ห่วงทรัพย์สินสูญหาย ชี้ภารโรงจำเป็นทำหน้าที่แทนครูเวร
ข่าวที่น่าสนใจ
นับตั้งแต่มีคำสั่งว่าไม่ต้องให้ครูเข้าเวร หลังเกิดเหตุกาณ์ครูถูกทำร้าย โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี และยะลา ต่างก็ยังคงห่วงทรัพย์สิน ในช่วงที่ยังไม่ใครดูแลในขณะนี้
ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่องให้ยกเลิก “ครูอยู่เวร” และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา
โดยล่าสุด นายประเสริฐ หนูรุ่น ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวหิน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เผยว่า เบื้องต้นได้ติดตั้งกล้องวงจรปิด และขอความอนุเคราะห์เพื่อนครูที่อยู่พื้นที่ใกล้โรงเรียน ให้แวะเวียนมาดูเป็นครั้งคราว พร้อมประสานกับทางชาวบ้าน ร้านค้าหน้าโรงเรียน รวมทั้ง อปพร.เพื่อช่วยในการดูแลโรงเรียน
ซึ่งปัจจุบันในการดูแลรักษาความสะอาด ทางโรงเรียนไม่มีงบจ้างนักการภารโรง แต่ใช้งบส่วนตัวของครูเอง ซึ่งโรงเรียนอยากได้นักการภารโรงมาช่วยในการดูแลความปลอดภัยของคุณครู ดูแลความปลอดภัยของนักเรียน ดูแลโรงเรียน ซ่อมแซมบำรุงรักษาอุปกรณต่างๆ รวมทั้งดูแลระบบไฟฟ้าซึ่งก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีนักการภารโรงอยู่
“ใจหนึ่งก็มองว่า การยกเลิกครูเวรเป็นเรื่องดี อีกใจก็เป็นห่วงโรงเรียน เพราะเป็นโรงเรียนเปิด มันไม่มีอะไรป้องกันได้เลย ก็แอบเป็นห่วงอยู่ แต่ก็รู้สึกดี ที่เราจะได้กลับไปอยู่บ้านด้วย”
ด้านนางปราณปรีญาพร จานทอง คุณครูประจำชั้น ป.5 เผยว่า ปกติจะรับผิดชอบเข้าเวรในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเวลากลางวัน แต่หลังจากมีมาตรการยกเลิกครูเวร ก็รู้สึกว่าเป็นห่วงเป็นสถานที่ราชการ เป็นห่วงทรัพย์สินของราชการ แต่ความปลอดภัยของครูก็ต้องมาก่อน ปัจจุบันนี้ไม่ได้เข้าเวร แต่ผ่านไปผ่านมาก็ยังแวะดูโรงเรียน แต่ไม่ได้อยู่นานเหมือนเมื่อก่อน เราเน้นความปลอดภัย เวลาผ่านไปผ่านมาหน้าโรงเรียน แม้ไม่เข้าเวร ก็จะมีบ้างที่แวะเข้ามาดู
ขณะที่โรงเรียนอนุบาลเบตง เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนใน จ.ยะลา ที่ยืนยันว่าการยกเลิกครูอยู่เวรเป็นนโยบายที่ดี โดยทางผู้อำนวยการ นายจำลอง จันทรโชติ เห็นว่าเนื่องจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ค่อยปลอดภัยสำหรับครู โดยเฉพาะครูผู้หญิง หากอยู่เวรนอกเวลาราชการ เช่น ช่วงค่ำ วันหยุดเสาร์ -อาทิตย์ หรือวันหยุดชดเชย ก็ค่อนข้างเสี่ยง ซึ่งการยกเลิกเป็นสิ่งที่ดี
แต่จะมีผลกระทบบ้างสำหรับโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนแออัด อาจจะมีขโมยเข้ามางัดแงะ เอาทรัพย์สินเป็นของทางราชการ ทั้งนี้ทางโรงเรียนแก้ปัญหาโดยการประสานขอความร่วมมือจากทางชุมชน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ส่วนทางโรงเรียนก็มีมาตรการโดยจะใช้กล้องวงจรปิด เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัย ของทรัพย์สินทางราชการ
โดยจะเชื่อมต่อกับมือถือของครู เพราะหากเกิดเหตุจะได้เข้ามาดูแลได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งวางแผนกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยไว้เบื้องต้นแล้ว
ในส่วนของตำแหน่งนักการภารโรง ทางครูจำลอง มองว่าไม่ควรจะเรียกคืน เพราะโรงเรียนจำเป็นต้องมีเวรยาม ซึ่งนักการภารโรงที่เป็นคนในชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และดูแลความปลอดภัยของครู คิดว่าการยกเลิกนั้นไม่เห็นด้วย และควรจะเพิ่มให้ด้วยซ้ำ
สำหรับที่โรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) ปัจจุบันนี้มีนักการภารโรงที่ทางโรงเรียนจ้างเอง 1 คน และทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษายะลา เขต 3 จ้างให้อีก 1 คนเท่านั้น โดยล่าสุด ทางกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ เร่งดำเนินการคืนนักการภารโรงให้กับสถานศึกษา โดยกำลังชงขอให้งบฯกลาง 6 ร้อยล้านบาท ผ่าน ครม. เพื่อจ้างภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาดทั่วประเทศ รวม 14,000 ตำแหน่ง โดยจะดีเดย์เริ่มทำงาน 1 พ.ค.นี้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง