"วิรังรอง" จัดหนักอธิการบดี จุฬาฯ ยื่นร้องเรียน "วิทยานิพนธ์ฉาว" ไม่คืบ เพราะระบบเว็บไซต์ไม่รองรับ
ข่าวที่น่าสนใจ
13 มีนาคม 2567 นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า อัปเดตการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ให้เปิดเผยข้อมูลเรื่องมติการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง และการดำเนินการตามมติดังกล่าว
๑. วันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ พยายามส่งหนังสือ ผ่านทางเว็บไซต์ของสภาจุฬาฯ ที่ https://council.chula.ac.th/ พิมพ์จนเสร็จแล้ว แต่พอถึงขั้นตอนสุดท้าย กดส่ง มีเครื่องหมายหมุน ๆ นานมาก ลองทำหลายรอบก็ไม่ผ่าน จึงไม่สามารถส่งได้
๒.พยายามส่งเรื่องผ่านสำนักงานเลขานุการบริหารของอธิการบดี (บอ.) แต่เว็บไซต์เต่ามาก น่าจะไม่ได้พัฒนาถึง ๑๗ ปี คือตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ที่ไม่ได้มีการทำให้เป็นปัจจุบัน และไม่มีการลบออกจากระบบอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด
๓. เปลี่ยนเป็นส่งผ่านช่องทางร้องเรียนของเว็บไซต์ส่วนกลางของจุฬาฯ ที่ https://transparency.chula.ac.th/petition โดยส่งเป็น ๒ ฉบับแยกกัน คือ ถึงนายกสภาจุฬาฯ และอธิการบดีจุฬาฯ ปรากฏว่าส่งผ่านเรียบร้อย โดยได้มีหมายเหตุแจ้งไปในหนังสือถึงที่ส่งถึงอธิการบดีด้วยว่าได้พยายามส่งหนังสือไปทาง ๒ ช่องทางก่อนหน้า แต่ไม่สามารถทำได้ จึงจำเป็นต้องส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ส่วนกลางของจุฬาฯ แทน เนื่องจากเว็บไซต์ ของบอ. ไม่สามารถใช้การได้ ควรจะปรับปรุงหรือยกเลิกถ้าไม่ใช้แล้วเพื่อประหยัดทรัพยากรของจุฬาฯ และเว็บไซต์ของสภามหาวิทยาลัย ในหน้าร้องเรียนก็ไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน ขอให้ปรับปรุง
๔. วันศุกร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ โทรศัพท์ไปถามที่สำนักงานเลขาอธิการบดีจุฬาฯ แต่เนื่องจากตรงกับวันที่มีกิจกรรมกีฬาของเจ้าหน้าที่ เลขาอธิการบดีไม่อยู่ มีเจ้าหน้าที่ท่านอื่นรับสายแทน หลังจากอธิบายว่าเหตุผลที่โทรมา คือเพื่อติดตามเรื่องที่ร้องเรียนไปทางเว็บไซต์ของจุฬาฯ อยากทราบว่าท่านอธิการบดีได้รับหนังสือหรือยัง ขณะนี้เรื่องถึงไหน และจะต้องติดตามเรื่องต่อไปที่ไหน เจ้าหน้าที่ตอบว่าถ้าส่งไปที่นั่น (คือในข้อ ๓) ไม่ทราบว่าเอกสารจะไปถึงไหน ขอให้ส่งใหม่โดยส่งมาที่อีเมลโดยตรงของสภามหาวิทยาลัยฉบับหนึ่ง และ อีกฉบับหนึ่งให้ส่งทางอีเมลของเลขาอธิการบดีจุฬาฯ
ดิฉันได้สอบถามเพื่อความแน่ใจว่าส่งทางอีเมลเลขาอธิการบดีแล้วเรื่องจะถึงอธิการบดีแน่นอนหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าเป็นอีเมลที่เลขาใช้ทำงานให้ท่านอธิการบดี เรื่องจึงถึงอธิการบดีแน่นอน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้อีเมลของสภาจุฬาฯ และของเลขาอธิการบดีมาเป็นอีเมลที่ลงท้าย @chula.ac.th ซึ่งเป็นอีเมลแอดเดรสของจุฬาฯ ไม่ใช่อีเมลส่วนตัวเลขาอธิการบดี
๕. วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๗ ส่งหนังสือร้องเรียนทั้ง ๒ ฉบับอีกครั้งผ่านช่องทางอีเมลตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
๖. วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ (วันนี้) ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับใด ๆ จากทางจุฬาฯ ไม่ว่าจากที่ร้องเรียนผ่านระบบร้องเรียนกลางในข้อ ๓ หรือที่ร้องเรียนผ่านอีเมลสภาจุฬาฯ และเลขาอธิการบดีจุฬาฯ ในข้อ ๕ ตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามที่สำนักงานเลขานุการอธิการบดีจุฬาฯ เลขานุการอธิการบดีเป็นผู้รับสาย ชี้แจง สรุปได้ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของอธิการบดี ไม่เกี่ยวกับสภาจุฬาฯ การส่งเรื่องไปที่สภาจุฬาฯ จึงไม่เป็นผล
จึงได้ถามต่อไปเพื่อขอเลขที่รับหนังสือที่ร้องเรียนอธิการบดี เลขาอธิบายว่าจุฬาฯ จะออกเลขที่รับหนังสือเฉพาะในกรณีที่มีการส่งเอกสารทางไปรษณีย์หรือมายื่นเองเท่านั้น เรื่องที่ร้องเรียนทางข้อ ๓ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ดูแลว่าจะส่งเรื่องต่อไปที่ใดหรือดำเนินการอย่างไรซึ่งไม่เกี่ยวกับสำนักงานอธิการบดี (งงนะ เพราะในเว็บไซต์ไม่มีแจ้งบอกว่าหลังจากส่งเรื่องร้องแล้ว จะติดต่อที่ไหนต่อไป ควรมีเบอร์โทรของหน่วยงานที่รับผิดชอบรับเรื่องเพื่อให้ติดตามเรื่องได้ถูก ไม่ใช่ต้องโทรไปทั่วจุฬาฯ เพื่อติดตามเรื่องที่ร้องเรียน) แต่ถ้าหากส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมล ในข้อ ๕ จะไม่มีการลงเลขที่สารบรรณ และไม่มีการตอบรับอีเมลใด ๆ เพราะเป็นการส่งเรื่องร้องเรียนมาที่ “อีเมลส่วนตัวของเลขาอธิการบดี” “จึงช่วยได้เพียงแค่” ส่งต่อไปถึงอธิการบดีให้แล้ว ซึ่งขณะนี้อธิการบดีได้ส่งเรื่องไปถึงผู้ช่วยอธิการบดี ธนพล ให้ดำเนินการต่อไป ดิฉันจึงอธิบายให้เลขาอธิการบดีเข้าใจว่า ได้โทรมาติดต่อเพื่อถามอีเมลที่จะส่งถึงอธิการบดี เจ้าหน้าที่ได้ให้อีเมลของเลยขามา และดิฉันเห็นว่าไม่ใช่อีเมลส่วนตัวเพราะลงท้ายด้วย @cu.ac.th จึงเข้าใจว่าเป็นอีเมลที่เลขาอธิการบดีใช้ในการทำงานของมหาวิทยาลัย (หรือสรุปว่า จุฬาฯ ให้เจ้าหน้าที่ใช้ที่อยู่อีเมลของจุฬาฯ เพื่อใช้ส่วนตัวหรืออย่างไร???)
ดิฉันรู้สึกว่าระบบเอกสาร งานสารบรรณ และการประสานงานภายในของจุฬาฯ ล้าหลังมากโดยเฉพาะในยุคสื่อสารไร้พรมแดน ๒๐๒๔
สรุปเรื่องเพียงนี้ แต่ต้องใช้เวลาสอบถามนานมากถึง ๒๐ นาที ๘ วินาที กว่าจะได้ข้อมูลแค่ที่พิมพ์ข้างบนนี้ เพราะถามอย่างหนึ่งตอบอีกอย่างหนึ่งอยู่นาน หนังสือที่ส่งถึงจุฬาฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์กลาง ติดตามไม่ได้ ส่วนทางอีเมลไม่มีการตอบและไม่ลงทะเบียนสารบรรณ แล้วจะติดต่ออ้างอิงกันอย่างไร การจะติดต่อสอบถามติดตามเรื่องไปที่หน่วยงานใดมิต้องพูด ต้องอธิบายกันยืดยาวกว่าจะรู้เรื่องกัน เสียเวลาพูดเสียเวลาทำงานทั้งสองฝ่าย เพราะไม่มีการตอบรับเลย ไม่ว่าจะหน่วยงานสารบัญอิเล็กทรอนิกส์ของจุฬาฯ ที่ได้ร้องเรียนไปตั้งแต่วันที่ ๗ หรือที่ร้องเรียนวันที่ ๑๐ ผ่านอีเมลตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ก็ไม่มีอีเมลตอบกลับว่าได้รับหรือยังและส่งต่อเรื่องไปที่ไหน ถ้าจุฬาฯ มีระบบที่ดี เลขาอธิการบดีคงเอาเวลาไปทำงานอื่นที่สำคัญได้ แทนที่จะต้องมาตอบปัญหาเหล่านี้ และดิฉันคงไม่ต้องเสียเวลา เสียสตางค์ค่าโทรศัพท์สองรอบ
ดิฉันจึงขอให้เลขาอธิการบดีแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าได้รับเอกสารแล้ว และชี้แจงว่าอธิการบดีได้ดำเนินการอย่างไร ขณะนี้เรื่องอยู่ที่หน่วยงานไหน ใครรับผิดชอบ ดิฉันขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และขอให้ชี้แจงด้วยว่า ถ้าไม่ประสงค์จะเดินไปยื่นเองหรือส่งทางไปรษณีย์ซึ่งอาจจะไม่สะดวกสำหรับบางท่านที่อยู่ต่างประเทศหรือต่างจังหวัด การจะส่งเรื่องร้องเรียนถึงอธิการบดี ควรจะส่งไปที่ไหน เพราะนี่มันปี ๒๐๒๔ ทุกอย่างควรจะเข้าระบบไร้เอกสารให้มากที่สุด และทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องเสียเวลาผู้ร้องเรียนให้เดินทางไปเพียงเพื่อจะได้รับเลขที่รับเอกสารจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ร้องเรียนไม่ต้องเดินทางไปส่งไปรษณีย์และเสียค่าไปรษณีย์ ควรจะมีระบบการติดต่อสอบถามหรือร้องเรียนได้ออนไลน์ที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่มีไว้เหมือนประดับโชว์หน้าเว็บไซต์เท่านั้น เลขาอธิการบดีตอบว่า จะส่งอีเมลตอบวันนี้แต่นี่ก็หมดเวลาทำงานแล้ว ดิฉันยังไม่ได้ร้ับอีเมลตอบจากเลขานุการอธิการบดีจุฬาฯ ตามที่แจ้งดิฉันไว้
ขอบันทึกเพิ่มอีกประการหนึ่งก็คือ เว็บไซต์ของสภาจุฬาฯ นั้น จากที่ก่อนหน้านั้น เคยลงทะเบียนร้องเรียนได้ แม้จะส่งเรื่องร้องเรียนไม่ผ่าน แต่หลังจากร้องเรียนให้ปรับปรุงเว็บไซต์ มาวันนี้ ดิฉันหาเมนูร้องเรียนนั้นไม่เจอแล้ว แต่พอกดไปที่หัวข้อ ติดต่อเรา ก็กลายเป็นวนกลับมาหน้าแรกของเว็บไซต์ วนเป็นลูปอยู่เช่นนี้
จึงขอแจ้งนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และผู้บริหารจุฬาฯ ทางสื่อออนไลน์ว่า อย่าเพิ่งไปคิดสร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน ให้ใหญ่โตเลย แค่ปรับปรุงเว็บไซต์ของจุฬาให้ทันสมัยเป็นปัจจุบันใช้งานได้ทุกเมนูและ “สามารถจะให้ชุมชนติดต่อ ร้องเรียน หรือแจ้งเริื่องทุจริต” กับจุฬาฯ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก จะดีกว่าที่จะไปคิดทำอะไรใหญ่โตเกินตัวเกินความสามารถ ถ้าแค่นี้ยังแก้ไขให้ดีไม่ได้ จุฬาฯ ไม่ควรคิดไปลงทุนสร้างนวัตกรรมอย่างอื่นหรอก เว็บไซต์จุฬานั้นดูแล้ว น่าจะเสียเงินจ้างจัดทำเป็นจำนวนมากอยู่ อยากถามว่าก่อนรับส่งงานจากผู้จัดทำ ได้มีการตรวจสอบว่ามีข้อมูลที่จำเป็น สมควรมี และทุกเมนูใช้ได้หรือไม่ ตลอดจนหลังจากทำเสร็จส่งมอบงานแล้ว ทำไมมีการอัปเดตให้เป็นปัจจุบันและไม่จัดระบบงานภายในให้สัมพันธ์สอดคล้องกัน
วิรังรอง ทัพพะรังสี
๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗
บันทึกไว้เพื่อติดตามเรื่องต่อไป
อาจไม่สมบูรณ์ เขียนเร็ว ๆ เพราะต้องการเวลาไปทำประโยชน์อื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง