"วันเช็งเม้ง" ทำไมต้องไหว้ในเดือนที่ร้อนตับแตก คาดอุณหภูมิพุ่งสูง 40 - 44.5 องศาฯ ไหว้บรรพบุรุษ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมของไหว้อะไรบ้าง เช็ค ๆ
ข่าวที่น่าสนใจ
“วันเช็งเม้ง” ไหว้เดือนเมษา?
เช็งเม้ง เป็นชื่อสภาพอากาศปักษ์ย่อย 1 ใน 24 ปักษ์ของจีน คนจีนแบ่งสภาพอากาศตลอดปีเป็น 24 ปักษ์ โดย เช็งเม้ง เป็นปักษ์ที่ 5 ซึ่งอากาศสดชื่น (清) ทิวทัศน์แจ่มใส (明) จึงได้ชื่อว่า เช็งเม้ง (清明-แจ่มใส) ซึ่งหมายถึง อากาศที่แจ่มใสงดงาม ในยุคโบราณ เช็งเม้ง เป็นช่วงเวลาสำคัญหนึ่งทางการเกษตร จนมีสำนวนว่า ปลูกต้นไม้ปลูกป่า อย่าให้เลยเช็งเม้ง, ปักษ์เช็งเม้ง สั่งหญิงเลี้ยงไหม จัดห้องไหม…
เทศกาลนี้เป็นเทศกาลใหญ่ของเดือนสาม (จีน) ตามปฏิทินเกษตรของจีนถือเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ แต่หลักอุตุนิยมวิทยาสากลถือเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้กำลังเติบโต ดอกไม้บานสะพรั่ง อากาศสดชื่น ท้องฟ้าแจ่มใส ธรรมชาติงดงาม
จึงไม่แปลกหรอกที่เมืองจีนจะกำหนดให้ช่วงเวลาเช่นนี้ ไปปัดกวาดสุสานเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
แต่เมื่อคนจีนออกสู่โพ้นทะเล บางประเทศที่พวกเขาไปตั้งรกรากใหม่ มีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างไปจากเมืองจีน เช่น ที่ประเทศไทย การไหว้เช็งเม้ง หรือไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลนี้ เราลูกหลานเชื้อสายจีน จึงต้องอดทนกับอากาศที่ร้อนตับแตกด้วยเหตุนี้
“วันเช็งเม้ง” ?
สำหรับวัน เช็งเม้ง ในประเทศจีนนั้น จะเริ่มต้นช่วงวันที่ 4 – 5 เมษายน ของทุกปี ไปจนถึงวันที่ 19 – 20 เมษายน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ที่อากาศจะเริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอย ๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง
ขณะที่ ประเทศไทย นั้น วัน เช็งเม้ง ถูกกำหนดให้ตรงกับ วันที่ 5 เมษายน ของทุกปี แต่ด้วยสภาพจราจรที่ติดตัด สุสานต่าง ๆ จึงขยายช่วงเวลาเช็งเม้งให้ยาวขึ้นอีก 3 สัปดาห์ คือจะเริ่มเดินทางกันได้ตั้งแต่ 15 มีนาคม – 8 เมษายน ของทุกปี ส่วนในภาคใต้บางพื้นที่จะจัดวันไหว้เร็วกว่าที่อื่น 1 วัน คือประมาณวันที่ 4 เมษายน ของทุกปี
ประเพณีปฏิบัติ?
ในวัน เช็งเม้ง นี้ หลายบ้านมักจะนัดมารวมตัวกัน เพื่อจะได้ไหว้บรรพบุรุษไปพร้อมกัน อีกทั้งยังช่วยทำความสะอาดฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษ โดยอาจลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ โดยคนตายแล้วลงสีเขียว/สีทองขลิบเขียว ขณะที่ป้ายชื่อคนเป็นให้ลงสีแดง แต่ทั้งนี้ ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจกระทบตำแหน่งห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ เป็นต้น
สำหรับการตกแต่งสุสานนั้น อาจใช้กระดาษม้วนสายรุ้ง โดยสุสานคนเป็น ให้ใช้สายรุ้งสีแดง ส่วนสุสานคนตาย สามารถใช้สายรุ้งสีอะไรก็ได้ แต่ห้ามปักธงลงบนหลังเต่า เพราะถือว่า เป็นการทิ่มแทงหลุม และบางความเชื่อ ถือว่าเป็นการทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว
ไหว้เจ้าที่-บรรพบุรุษ?
- การกราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแลสถานที่และสุสาน โดยสามารถจัดวางของไหว้ ได้ดังนี้
- เทียน 1 คู่
- ธูป 5 ดอก (ปักลงบนฟัก)
- ชา 5 ถ้วย
- เหล้า 5 ถ้วย
- ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
- ส่วนการไหว้บรรพบุรุษ เพื่อระลึกถึงและขอบคุณท่าน สามารถจัดวางของไหว้ ได้ดังนี้
- เทียน 1 คู่
- ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก
- ชา 3 ถ้วย
- เหล้า 3 ถ้วย
- ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ ขนมถ้วยฟู
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
- และสำหรับของไหว้ที่นิยมใช้ประกอบพิธีไหว้เช็งเม้ง มีดังต่อไปนี้
- ไก่ต้ม 1 ตัว
- หมูสามชั้น ต้ม 1 ชิ้น ขนาด 1/2 กิโลกรัมขึ้นไป
- เส้นบะหมี่สด
- ขนม 3 อย่าง เต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า หรือขนมกู้
- ขนมถ้วยฟู
- สับปะรด 2 ลูก ใช้ทั้งก้านและหัวจุก
- น้ำชา
- ธูป
- เทียน
- กระดาษเงิน และ กระดาษทอง
โดยการทำพิธีไหว้วัน เช็งเม้ง นั้น ให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบไหว้ และเมื่อเทียนใกล้หมดก้าน ก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผา กระดาษเงิน กระดาษทอง และอื่น ๆ เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้น ๆ เป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันการแย่งชิง ทั้งนี้ ผู้ตีวงล้อม ต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อเพื่อแสดงความสมัครสมานสามัคคีแก่บรรพบุรุษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง