BBC รายงานการจัดอันดับเมืองหลวงและประเทศที่มีปัญหามลพิษทางอากาศประจำปี 2566 ของไอคิวแอร์ (IQAir) ซึ่งเป็นสำนักงานตรวจวัดคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวานนี้ (พุธที่ 20 มีค.) พบว่ากรุงนิวเดลี ของอินเดียติดอันดับเมืองหลวงที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก โดยค่าฝุ่น PM2.5 โดยเฉลี่ยของปีที่แล้วสูงถึง 92.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แต่หากคิดเป็นประเทศ อินเดียก็ติดอันดับสามประเทศที่มลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกประจำปี 2566 ตามหลังบังคลาเทศซึ่งติดอันดับ 1 และปากีสถานอันดับที่ 2 โดยค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของอินเดียอยู่ที่ 54.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
รายงานเผยว่าหลายเมืองของอินเดียกำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าปัจจัยหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมกลับอ่อนแอไม่เข้มแข็ง โรงงานส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและมาตรการควบคุม ยิ่งเข้าสู่ฤดูหนาว สถานการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นจากปัจจัยที่เพิ่มขึ้น คือการเผาพืชผลทางการเกษตร, ควันพิษจากรถยนต์และการจุดประทัดไฟในเทศกาลทางศาสนา
สำหรับประเทศไทยนั้น ถูกจัดอยู่อันดับที่ 36 โดยค่า PM 2.5 อยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัม ส่วนกรุงเทพมหานครอยู่ลำดับที่ 37 ในการจัดอันดับของเมืองหลวง โดยค่า PM 2.5 อยู่ที่ 21.7 ไมโครกรัม
ทั้งนี้ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ถือว่าอยุ่ระดับปลอดภัยคือ 12-15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากสูงกว่า 35 ไมโครกรัมถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
IQAir เผยว่าทั่วโลกมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่มีค่า PM 2.5 โดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีเข้าข่ายมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือออสเตรเลีย, นิวซีแลน์, ไอซ์แลนด์, ฟินแลนด์, เอสโตเนีย, เกรนาดาและ มอริเชียส